"เดอะ เม็ท" จี้ศาลเร่งลุยคดีโครงการอาคารชุด 125 สาทร

13 ม.ค. 2566 | 02:01 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2566 | 11:18 น.

"เดอะ เม็ท" จี้ศาลเร่งลุยคดีโครงการอาคารชุด 125 สาทร หลังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปีที่ผ่านมา กรณีที่มีการอนุมัติรายงาน EIA ระบุโครงการจะก่อสร้างในเร็ววันนี้

คดีที่อาคารชุด เดอะ เม็ท ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปีที่ผ่านมา กรณีที่มีการอนุมัติรายงาน EIA (รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ของโครงการอาคารชุด 125 สาทร ซึ่งเป็นโครงการตึกสูง กำลังเดินหน้าต่อไป โดยศาลจะนัดวันสืบพยานในเร็ววันนี้ 

 

นางสาวชิดชนก เลิศอำพรไพศาล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด “เดอะ เม็ท” เปิดเผยว่า เจ้าของร่วมในโครงการเดอะ เม็ท ต้องการจะให้คดีนี้มีความคืบหน้าโดยเร็ว เนื่องจากโครงการ 125 สาทร น่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเร็ววันนี้

 

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสังเกตคือ ในหลายคดีที่ผ่านมา แม้จะได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างอาคารชุดแล้ว แต่ผู้พัฒนาโครงการก็ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไปในระหว่างที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

 

ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทำให้ผู้พัฒนาโครงการเป็นฝ่ายที่มีความได้เปรียบกว่าชุมชนที่ทำการคัดค้านโครงการนั้น ๆ ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า โครงการเหล่านี้ได้รับอนุมัติรายงาน EIA และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างได้อย่างไร ทั้งที่ชุมชนในพื้นที่มีการคัดค้านอย่างรุนแรง 

นายโสภณ พรโชคชัย ประธาน บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส และกรรมการสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (FIABCI) กล่าวโดยตั้งข้อสังเกตุว่า การก่อสร้างโครงการดังกล่าวซึ่งไม่เป็นไปตามสัญญาที่ผู้พัฒนารายก่อนและเจ้าของที่ดินได้ให้ไว้ว่าจะพัฒนาที่ดินหน้าโครงการ The Met เป็นอาคารแบบ low-rise จะทำให้มูลค่าของห้องชุดในอาคารชุด The Met ลดลง เนื่องจากจะบดบังทัศนียภาพ และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการ 

 

“โครงการ 125 สาทร ต้องยังไม่เริ่มการก่อสร้างจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเกิดความไม่ชัดเจนซ้ำรอยกรณีของโครงการ The AETAS Hotel & Residence ซึ่งตั้งอยู่ในซอยร่วมฤดี 2 และโครงการ Ashton Asoke” 

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้พัฒนาอาคารชุดนิยมออกแบบอาคารชุดให้มีจำนวนห้องชุดที่มากเหลือเชื่อบนพื้นที่ขนาดเล็ก โดยทำให้เกิดคำถามในเรื่องการดูแลผังเมืองโดยกรุงเทพมหานคร โครงการ 125 สาทร อยู่บนถนนสาทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่นมากที่สุดอันดับต้นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 

 

แต่ปัจจุบันยังไม่มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตสาทรยังคงรอฟังว่ากรุงเทพมหานครจะมีวิสัยทัศน์อย่างไรในเรื่องการออกแบบผังเมืองอย่างยั่งยืน 

และจะกำหนดแนวทางแก่ผู้พัฒนาอย่างไรในการพัฒนาที่ดินอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงข้อห่วงกังวลของชุมชนในพื้นที่ที่อยู่อาศัยมาก่อนเป็นสำคัญ โดยปัจจุบันดูเหมือนว่ากรุงเทพมหานครจะยังไม่มีแผนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาการจราจรและการขนส่งมวลชนในสาทรซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่มีการจราจรแออัดแต่อย่างใด

 

สำหรับโครงการ 125 สาทรนั้น ถูกคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่เนื่องจากรายงาน EIA โดยโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติทั้งที่ยังคงมีประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการที่ชุมชนในพื้นที่มีความกังวลอย่างยิ่ง 

 

อีกทั้งยังคงมีประเด็นในเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการใช้ที่ดินโดยโครงการดังกล่าว ประเด็นเหล่านี้ ศาลปกครองกลางจะพิจารณาตัดสินในที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลาถึงปี 2566 หรือ 2567 

 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้โครงการ 125 สาทร น่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และหากศาลมีคำพิพากษาเป็นโทษต่อโครงการดังกล่าว อาคารที่ได้ก่อสร้างไปก็จะกลายเป็นอาคารร้าง ซึ่งเป็นภาพที่ไม่น่ามองสำหรับชุมชนดังกล่าวต่อไป ประเด็นดังกล่าวนี้นำมาสู่คำถามว่า ผู้พัฒนาโครงการ 125 สาทร จะรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาก่อนหรือไม่ หรือจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการพิจารณาคดีดังกล่าว