เดอะเม็ท สาทร VS 125 สาทร คดีพิพาท EIA ในมือ ศาลปกครองกลาง

20 มิ.ย. 2565 | 01:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2565 | 08:55 น.

รายงานพิเศษ : เดอะเม็ท สาทร VS โครงการ 125 สาทร มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท คดีพิพาท การอนุมัติ EIA ของรัฐ ในมือ ศาลปกครองกลาง

20 มิถุนายน 2565 - นับเป็นเวลากว่า 2 ปี สำหรับ คดีพิพาทความขัดแย้ง ระหว่าง ลูกบ้าน โครงการ 'เดอะเม็ท' คอนโดมิเนียม 69 ชั้น สูง 228 เมตร (อาคารสูง อันดับที่ 14 ของประเทศไทย) ที่ตั้งอยู่ที่ดิน 7 ไร่ บนถนนสาทร ยื่นคัดค้าน การก่อสร้าง โครงการ “125 สาทร” อาคารคอนโดมิเนียมแฝด สูง 36 ชั้น โดยมีจำนวนห้องชุด 774 ยูนิต ในพื้นที่รอยต่อติดกัน 3 ไร่ พิกัดด้านหน้า ติดถนนใหญ่สาทร 'ทำเลทอง' ใจกลางเมือง ข้างสถานเอกอัครฑูตสิงคโปร์ ที่วันนี้ การซื้อ-ขายที่ดิน ในโซนดังกล่าว มีราคาสูงกว่า ตารางวาละ 2.2 ล้านบาท 

โดยการรวมตัวของลูกบ้าน เกิดขึ้นตั้งแต่ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (ผู้พัฒนาฯโครงการ 125 สาทร)  เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับ แผนการก่อสร้างโครงการใหม่ เมื่อช่วงกลางปี 2563 

 

ผ่านการยื่นเรื่องร้องเรียน ต่อสำนักงานเขตสาทร เพื่อขอตรวจสอบในแง่ข้อกฎหมาย และระบุถึงความเดือดร้อนที่อาจได้รับ ตั้งแต่ประเด็น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่อง เสียง ฝุ่น  แรงสั่นสะเทือนการขุดเจาะก่อสร้าง ความปลอดภัยของฐานราก รวมถึง การขออนุญาตใช้ประโยชน์จากที่ดินทับซ้อนแยกแบ่ง ว่ามีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ?

ขณะช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา พบมีการเข้ายื่นฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง ยืนเพดาน คัดค้านการอนุมัติรายงาน EIA ของโครงการอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษแห่งนี้ ผ่านรายงานประกอบร่วม 260 หน้า พุ่งเป้าไปที่การฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก. กทม.) ที่ได้อนุมัติรายงาน EIA ของโครงการ 125 สาทร ตลอดจนหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง โดยผู้ร้อง มีคำถามเกี่ยวกับขนาดอาคารและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตสำหรับการก่อสร้าง รวมทั้งได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการอนุมัติ EIA ด้วย 

 

ลูกบ้านเดอะเม็ท โวย EIA 125 สาทร 

ล่าสุดประเด็นพิพาทนี้ มีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจาก เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าว ไว้พิจารณาแล้ว และกำลังดำเนินเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีต่อไป

เดอะเม็ท สาทร VS 125 สาทร  คดีพิพาท EIA ในมือ ศาลปกครองกลาง

เจาะมุมมองตัวแทนลูกบ้านเดอะเม็ท น.ส. ชิดชนก เลิศธรรมพรไพศาล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด เดอะเม็ท ระบุว่า  การคัดค้านมีข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 400 คนในชุมชน แวดล้อมโครงการใหม่รวมอยู่ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ 125 สาทร อย่างไรก็ตาม พบ โครงการ 125 สาทร กลับได้รับการอนุมัติรายงาน EIA ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา จนนำมาสู่ การยื่นเพื่อขอให้ศาลปกครองกลางตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาอนุมัติรายงาน EIA 

 

ทั้งนี้ ประเด็นที่พุ่งเป้า โฟกัสไปที่ความโปร่งใสและการคุ้มครองผู้บริโภค ตัวแทนลูกบ้านเดอะเม็ท ระบุ กฎหมาย ควรให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่าย โดยระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล โครงการที่ถูกร้องเรียน ควรหยุดการก่อสร้างจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหลายโครงการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  เพราะเมื่อคำวินิจฉัยของศาลส่งผลในทางลบ ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นกับผู้ซื้อโครงการนั้น ที่ทำการโอนสิทธิความเป็นเจ้าของและอาจย้ายเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว 

เดอะเม็ท สาทร VS 125 สาทร  คดีพิพาท EIA ในมือ ศาลปกครองกลาง

125 สาทร ยันเอกสาร EIA 8 พันหน้า

ล่าสุด ในงานแถลงข่าว การเปิดตัวโครงการ 125 สาทร โดยบริษัท พีเอ็มพี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (PMT) ในเครือ โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (TTA) นายภัทร์กร วงศ์สรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ TTA ยืนยันต่อความถูกต้องในการออกแบบอาคารตามกฎหมายทุกประการ อีกทั้งระบุว่า การขออนุญาต EIA ที่ผ่านการอนุมัติ จาก กทม. แล้วนั้น  มาจากเอกสารประกอบร่วมถึง 8,000 หน้า ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่มี ตามหลักผังเมือง , พ.ร.บ.อาคารชุด และ การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ 

 

ขณะเดียวกัน กระบวนการแรกเริ่มโครงการนั้น บริษัทได้มีการสำรวจผลกระทบของบริเวณโดยรอบ ในทุกแง่ คำนึงถึงการออกแบบ เพื่อให้กระทบต่อพื้นที่โดยรอบให้น้อยที่สุด รวมถึง การเข้าไปขออนุญาตโดยตรง กับเจ้าของพื้นที่ติดกัน อย่าง สถานเอกอัครฑูตสิงคโปร์ โดยนำแบบก่อสร้างโครงการ 125 สาทร ให้กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ พิจารณาร่วม ซึ่งไม่ปรากฎข้อติดขัดแต่อย่างใด  ส่วนข้อร้องเรียนของลูกบ้านโครงการ เดอะเม็ท อาคารสูง ในผืนที่ดินด้านหลัง (เดิมเป็นผืนที่ดินเดียวกัน) นั้น บริษัทรับทราบประเด็นข้อพิพาทดี และไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยก่อนหน้า ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เคยมีการแถลงข่าว และ ยืนยันถึง กระบวนการอนุมัติ EIA ของโครงการ 125 สาทร ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องเช่นกัน 


ไม่หวั่นซ้ำรอยคดีดังย่านอโศก 

ทั้งนี้ แม้ในขั้นตอนพิจารณาคดีนี้อาจใช้ระยะเวลานาน 4-5 ปี แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือ มีผลตัดสินเกิดขึ้นในเชิงลบ ส่งผลต่อลูกบ้าน ซ้ำรอยคดีพิพาทคอนโดฯดัง ย่านอโศก แต่อย่างใด เนื่องจาก คดีส่วนใหญ่ ที่มักจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตในภายหลัง มักเกิดขึ้นกับโครงการที่มีปัญหา แบบก่อสร้างผิดข้อกฎหมาย แต่โครงการก่อสร้าง 125 สาทร ไม่มีปัญหาทางเข้า-ออก ,และรายละเอียดของแบบก่อสร้าง เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ที่ระบุ ที่ตั้งของอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร

 

ย้อนไป ปี 2547 บริษัท เพบเบิล เบ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้พัฒนาโครงการเดอะเม็ท) เข้าจดทะเบียนต่อกรมที่ดิน เพื่อแบ่งโฉนดที่ดินขนาด 10 ไร่ ออกเป็น 2 ผืน ก่อนในปีเดียวกัน นำแปลงที่ดินด้านหลัง 7 ไร่ พัฒนาเป็นโครงการเดอะเม็ท ในราคาเริ่มต้น 13 ล้านบาท ขณะที่ดินด้านหน้า 3 ไร่ ระบุ จะรองรับการพัฒนาโครงการในเชิงพาณิชย์แนวราบ หรือ โรงแรม ก่อนภายหลัง มีการขายต่อให้กับ บริษัท พีเอ็มที ฯ เจ้าของโครงการ 125 สาทร ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านบาท

 

โดยผู้พัฒนา ตั้งเป้าให้โครงการดังกล่าว เป็นแรร์ไอเทม (Rare item) และ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ บนถนนสาทร โดยมีราคาขายต่อยูนิตในราคาเริ่ม 5.9 ล้านบาท ขณะห้องเพนเฮ้าส์ คาดว่าจะมีราคาขายสูงถึง 100 ล้านบาท เนื่องจาก เป็นทำเลที่มีซัพพลายคอนโดมิเนียมจำกัด ขณะดีมานด์สูง ทั้งจากความต้องการของคนไทย และคนต่างชาติ อย่าง ชาวญี่ปุ่น เป็นต้น 

 

เดอะเม็ท สาทร VS 125 สาทร  คดีพิพาท EIA ในมือ ศาลปกครองกลาง