สถานการณ์โควิด-19 หมัดเมาของธุรกิจ ช่วงปี 2563-2565 กลายเป็นบทเรียนสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงนั้น เป็นเรื่องจำเป็นแค่ไหน เมื่อสภาพตลาดไม่ปกติ
โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเคยมีธุรกิจ ที่อยู่อาศัย เป็นพระเอกของอุตสาหกรรม เติบโตทั้งในฝั่ง ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย ต่อเนื่องมานานหลาย10ปี แต่โควิดได้พาลงสู่ 'จุดต่ำสุด' ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กลายเป็นความเสี่ยงไม่รู้จบ ภายใต้ การดำเนินธุรกิจในโลกยุคใหม่ ยิ่งท้าทายขึ้น ทั้่งความต้องการของผู้บริโภค และมิติ ความยั่งยืน ที่โลกให้ค่ามากขึ้น หนำซ้ำ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กบลับถูกขีดเส้นใต้ด้วยคำว่า ไม่แน่นอนแล้วอะไรคือทางรอด...
"ฐานเศรษฐกิจ" เจาะโมเดล และ มุมมองผู้เล่นรายสำคัญ 'เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย' หรือ FPT บริษัทภายใต้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ สิงคโปร์ (ถือหุ้นใหญ่โดยตระกูล: สิริวัฒนภักดี มีการลงทุน 22 ประเทศ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งปัจจุบัน FPT มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 98,967 ล้านบาท เน้นรูปแบบการทำธุรกิจ ผ่านยุทธศาสตร์ เติบโต 3 ขา หลังเชื่อว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความ ยั่งยืน ทุกมิติ พร้อมชี้ ความต่างจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดทั้่งปัจจุบันและอนาคต กับเป้าหมาย แบรนด์ TOP 5 อสังหาฯ โจทย์ใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง
อสังหาฯไทยผ่านเลนส์เฟรเซอร์สฯ
นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FPT ผ่าทิศทางอสังหาฯไทย และ กลยุทธ์ของบริษัท ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ไว้อย่างน่าสนใจว่า ภายใต้อสังหาฯ กลับมาเชื่อมั่นเศรษฐกิจและหวังว่า กำลังซื้อ ต่างชาติ จะฟื้น ผ่านการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ อย่างมหาศาล
พร้อมกับ วางเป้า New High ทุกแง่นั้น บริษัทมองต่างออกไป โดยประเมิน ปี 2566 ยังเป็นไทม์ไลน์ ที่ต้องระมัดระวังการลงทุนอยู่ โดยเฉพาะ แรงบีบ ดอกเบี้ย จากเงินเฟ้อ โดยมีฝั่งสหรัฐเป็นตัวแปร อาจส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไม่เป็นตามที่หวัง
เจาะธุรกิจโรงแรม ท้าทาย แม้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามา แต่ก็มาพร้อมกับซัพพลายใหม่มหาศาล ด้านธุรกิจอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะ เกรด A พิจารณา ว่าภาพรวมยังไปต่อได้ หากมีจุดเด่น ตั้งอยู่ในไพร์มโลเคชั่น เชื่อมระบบขนส่งมวลชน แต่อย่างไรก็ดี ช่วง 1-2 ปีนี้ จะมีซัพพลายใหม่เข้ามาเติมอีกมาก ส่อดีมานด์จะโตไม่ทันซัพพลายเช่นกัน
ขณะพื้นที่อุตสาหกรรม หรือ โรงงาน-คลังสินค้าให้เช่า เฟรเซอร์สฯ เชื่อมั่นว่า ยังเป็น ดาวเด่นต่อเนื่อง อานิสงส์จากซัพพลายเออร์ มองหาแหล่งสต็อกสินค้า ออกจากเมืองจีน พร้อมๆกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยที่ยังพุ่งแรง กลายเป็นธุรกิจเนื้อหอม ที่ดึงให้หน้าใหม่ๆเข้ามาในตลาดมากขึ้น
ด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยนั้น นายธนพล มองว่า กลุ่มบ้านเดี่ยวยังจะเติบโตได้ต่อ ส่วนทาวน์โฮมต้องลุ้นว่าจะกลับมาได้หรือไม่ จาก 2-3 ปีที่่ผ่านมา 'กำลังซื้อ'เผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือน บางโครงการขายดีมาก แต่ธนาคารก็ปฎิเสธสินเชื่อสูงเช่นกัน ภายใต้ภาพรวมอสังหาฯทั้งหมด มีสัญญาณการแข่งขันรุนแรงขึ้น แต่ผู้บริโภคบางกลุ่ม ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม
โควิด บ่งชี้ความสำเร็จ 'One Platform'
จากความท้าทายข้างต้น จึงเป็นที่มา พบแนวโน้มหลายธุรกิจ เริ่มแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมองหาความยืดหยุ่น ส่วนนัยที่มีต่อบริษัท ไม่ว่าจะเป็น 'วิกฤติโควิด' หรือ ความไม่แน่นอนในอนาคต เกี่ยวกับการขึ้นและลงของตลาดต่างๆ ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จ และความสำคัญ ของ ยุทธศาสตร์ One Platform อสังหาฯ ครบวงจรรายเดียว และรายแรกของไทย ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 16,346 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนจาก 1.ธุรกิจที่อยู่อาศัย 75% 2. ธุรกิจอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม 17% และ 3.ธุรกิจพื้นที่เชิง พาณิชยกรรม (โรงแรม ,อาคารสำนักงาน ,พื้นที่ค้าปลีก) ที่ 8%
"การบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอสำคัญ ท้าทายสมดุล ระหว่างรายได้จากการซื้อมา-ขายไป (ที่อยู่อาศัย) กับ ฝั่งรายได้ประจำ แต่บทเรียนโควิด ด้วยพอร์ตที่หลากหลายของบริษัท ทำให้เราผ่านวิกฤติมาได้ โดยไม่ต้องลดคน ชูเป็นตัวอย่างความสำเร็จ "
ทั้งนี้ ย้อนไป ปี 2564-2565 เจาะแค่ธุรกิจที่อยู่อาศัย ภายใต้ "เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม" พบมีการลุยพัฒนาแลนด์แบงก์ รวม 30 โปรเจ็กต์ ขยายตลาดบ้านเดี่ยวที่อยู่ในช่วงขาขึ้น พร้อมๆกับการควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้ปีก่อนกำไรบวก63%
ขณะ 1ในมิติที่น่าสนใจ คือ รายได้ 12% จากพอร์ตโครงการในต่างจังหวัด 8 หัวเมือง แหล่งงานแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคอีสาน 40% โดยมีจังหวัดขอนแก่นผลักดันถึง 37% ผ่าน โครงการ โกลเด้น นีโอ ขอนแก่น - บึงแก่นนคร มูลค่า 760 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันขายและโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 55% คาด ส.ค. ปี 2567 ปิดโครงการได้
โรดแมปธุรกิจ เป้าTOP 5 อสังหา
นายธนพล ขยายความต่อ ถึงเส้นทางธุรกิจและเป้าหมายระยะ 3 ปีข้างหน้า ว่าหลังจากบริษัทใช้เวลาตั้งแต่ช่วงปี 2562 - 2565 ทำการควบรวมธุรกิจ ปูพื้นฐานยุทธศาสตร์ ภายใต้ จุดแข็งของเฟรเซอร์สฯ โดยมีแต้มต่อจากธุรกิจหลากหลายในเครือบริษัทแม่ ที่เอื้อและส่งเสริมกันนั้น แต่บริษัทยังจะเน้นย้ำการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้พอร์ตสินค้าที่มีในมือจะมหาศาล แต่เดินหน้าแบบระมัดระวัง
โดยปี 2566 จะนับ 1 เข้าสู่อีกไทม์ไลน์สำคัญของบริษัท คือ การตั้งเป้าหมาย ในการเป็นแบรนด์ Top 5 ของธุรกิจอสังหาฯ ทั้งในกลุ่มที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ให้ได้ภายในปี 2568 และเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% สู่รายได้ 3 หมื่นล้านบาท ในระยะ 3 ปี ซึ่งเวลานั้น พอร์ตธุรกิจจะเปลี่ยนแปลง
ปรับสัดส่วนให้สมดุลมากขึ้นเช่นกัน โดยความท้าทายที่ว่า FPT กำลังสร้างแบรนด์สู่การเป็น Real Estate as a Service Brand (แบรนด์อสังหาฯโดดเด่นแง่บริการ) ทำงานใน 3 มิติ People ,Planet และ Purpose
People: มุ่งดูแลพนักงานซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถและขยายศักยภาพ ควบคู่กับการสนับสนุนให้ทุกคนในองค์กรมีเส้นทางการเติบโตในอาชีพอย่างชัดเจน
พร้อมดูแลด้านสวัสดิการที่เท่าเทียมและสอดรับกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เพื่อสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง พร้อมด้วยความรู้ ความสามารถ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าธุรกิจทั้งในปัจจุบันและการเติบโตในอนาคต ด้วยเป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็น Employer of Choice หรือบริษัทที่คนอยากร่วมงานด้วย
Planet: ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นและคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) และมุ่งสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัทฯ ในทุกด้าน โดยปัจจุบัน FPT เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทยรายแรกที่ได้รับจัดอันดับมาตรฐานในระดับ A ด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของบริษัทในหมวดหมู่ Southeast Asia Diversified Business ตามมาตรฐานของ GRESB (Global Real Estate Sustainability Benchmark)
ดัชนีด้านความยั่งยืนของภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 6 แสนต้นในปี 2025 เพื่อที่จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050
Purpose: เพิ่มเติมจากการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ FPT จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งของ แบรนด์เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ให้เป็นที่จดจำและเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่านการดำเนินงานของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าติด Top 5 ของแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2025
"จะเป็น 3 ปี ที่ต้องตีโจทย์ให้แตก ชื่อของแบรนด์ เฟรเซอร์สฯต้องเป็นที่จดจำทั้ง 3 กลุ่ม โดยเราจับเทรนด์สำคัญระดับโกลบอล ขับเคลื่อนธุรกิจ ผ่านการต่อยอด นวัตกรรมการบริการ เพิ่มบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน "
ส่วนการลงทุนนำร่อง ปีนี้ บริษัทวางงบรวมไว้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เพื่อการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ทั้งในและต่างประเทศ 3-4 พันล้านบาท ,การลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่ฯ ราว 6-7 พันล้านบาท และ อีก 1 พันล้านบาท สำหรับการปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเม็ดเงินลงทุนจะโตขึ้นประมาณ 10% ต่อปี