ย้อนภาพผวาปี 2565 "ลลิล" ฝ่าปัจจัยลบ รายได้ลด กลับกำไรพุ่ง!

28 ก.พ. 2566 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2566 | 07:54 น.

เจาะ "ลลิล พร็อพเพอร์ตี้" เผย ผลประกอบการปี 2565 ทำรายได้ 6,239 ล้านบาท โกยกำไรสุทธิ 1,271 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยเหนืออุตสาหกรรม เมื่อการบริหารจัดการต้นทุน คือ เรื่องสำคัญ

28 กุมภาพันธ์ 2566 - การบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้ดี  แม้ในปี 2565 จะเป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั่วโลก กระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง  ทำให้ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ยังคงความสามารถในการทำกำไร

โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับที่สูงกว่า 39%  ในขณะที่ยังคงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายทั้ง ค่าใช้จ่ายในการขาย  ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ตลอดจนค่าใช้จ่ายทางด้านการเงิน ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม  

ย้อนปี 2565 ปัจจัยลบรุมเร้า

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)  กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2565 ว่าเป็นปีที่มีปัจจัยลบมากมายเกิดขึ้น   โลกต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์  การแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกของประเทศมหาอำนาจ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน  ระดับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวขึ้น  

ความเสี่ยงด้าน Supply Chain Disruption   อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทั่วโลก จนเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี   ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด  

FED มีการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและแรงจนอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปี   รวมถึงธนาคารกลางหลายประเทศที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม  จนอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อไปยังต้นทุนของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคประชาชน   

เงินเฟ้อเร่ง แต่กำไรขั้นต้นดี

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2565  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่สดใสนัก  บริษัทฯ สามารถทำยอดรับรู้รายได้ที่ 6,239.13 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงจากปีก่อนหน้า 5.3%   อย่างไรก็ดีในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อเร่งตัว  ราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น  แต่บริษัทยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ ได้ดี  

โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ที่ 39.1%  ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 33%   ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดรับรู้รายได้ (SG&A/Revenues) ในปี 2565 ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 10%  ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดซึ่งอยู่ที่ราว 15%   

ในส่วนของต้นทุนการเงินบริษัทมีการออกหุ้นกู้ไปในช่วงต้นปีก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะเร่งตัวขึ้น  รวมถึงการบริหารจัดการเงินทุนอย่างเหมาะสม ทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินในระดับที่ต่ำ   ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,271.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 20.4% ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ราว 12%

เดินหน้าขยายธุรกิจ 11 โครงการ อย่างรัดกุม

สำหรับแผนการขยายธุรกิจในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถขยายเปิดโครงการใหม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 11 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 8,500 ล้านบาท  และเตรียมขยายโครงการต่อเนื่องในปี 2566 นี้อีก 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท  โดยตั้งเป้าหมายยอดขายสำหรับปี 2566 นี้ไว้อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท หรือขยายตัวราว 10%   

ในส่วนสถานะทางการเงิน บริษัทมีการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินอย่างรัดกุม  มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง   โดย ณ สิ้นปี 2565 แม้บริษัทจะมีการขยายธุรกิจอย่างมาก  แต่ยังคงมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.55 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ราว 1.4 เท่า  และมีระดับหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E Ratio) เพียง 0.29 เท่า

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติเห็นชอบนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในการจัดสรรกำไรสำหรับปี 2565 ให้กับผู้ถือหุ้น โดยเสนอให้จ่ายเงินปันผลรวมทั้งปีในอัตราหุ้นละ 0.64 บาท ซึ่งหากคิดที่ราคาหุ้นปัจจุบัน คิดเป็น Dividend Yield อยู่ที่ระดับราว 7%  

โดยบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วที่ 0.305 บาท ดังนั้นจะเหลือจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.335 บาทต่อหุ้น  โดยได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 16 มีนาคม 2566 (หรือขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 15 มีนาคม 2566) และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566