พื้นที่ค้าปลีกเปิดใหม่ในกทม.ทะลัก!125,500 ตร.ม.

11 มี.ค. 2566 | 01:06 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2566 | 01:17 น.

พื้นที่ค้าปลีกเปิดใหม่คึกคัก หลังเปิดประเทศโควิดคลี่คลายพื้นที่กทม.สัดส่วนโตเพิ่มขึ้นกว่า53%  125,500 ตร.ม. สิ้นปี 2565เปิดให้บริการแล้ว6.7 ล้านตร.ม.

 

แม้ว่าโครงการพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครจะกลับมาคึกคักมากขึ้นในปี2565 แต่ยังคงเห็นพื้นที่ว่างในหลายๆ โครงการในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในพื้นที่ใจกลางเมือง

รวมไปถึงคอมมูนิตี้มอลล์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกที่ยังมีพื้นที่ว่างให้เช่า การปรับปรุงพื้นที่เช่าภายในของศูนย์การค้าในพื้นที่ใจกลางเมืองมีให้เห็นตลอดในช่วงปี2563-2564 และ ปี2565 เริ่มเห็นพื้นที่เช่าที่เคยว่างหลายพื้นที่รวมไปถึงส่วนที่เคยปิดเพื่อปรับปรุงพื้นที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

จากการ วิเคราะห์ของ “พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ” พบว่า  พื้นที่ค้าปลีกสะสมในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านตารางเมตร  มีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่ประมาณ 125,500 ตารางเมตร 53% เป็นพื้นที่ของศูนย์การค้า และ 33% เป็นสเปเชี่ยลตี้

สโตร์ที่ขายสินค้าประเภทของตกแต่งบ้าน โดยคอมมูนิตี้มอลล์มีเพียง 13% เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงการลดลงของคอมมูนิตี้มอลล์ที่เคยเปิดให้บริการใหม่ต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

พื้นที่ค้าปลีก

โครงการพื้นที่ค้าปลีกหลายโครงการกำลังก่อสร้าง และจะเปิดให้บริการในอนาคต โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการศูนย์การค้าโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของพื้นที่ค้าปลีกที่จะเปิดให้บริการในช่วงระหว่างปี2566- 2568 ในขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์ลดจำนวนโครงการลงแบบชัดเจน เพราะมีสัดส่วนเพียง 11% เท่านั้น

ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ต และโครงการประเภทอื่นๆ แทบไม่มีโครงการใหม่ๆ เลย อาจจะมีในส่วนของพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนที่อยู่ตามอาคารสำนักงานที่จะเปิดให้บริการใหม่อีกหลายอาคารช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าเป็นประเภทของโครงการพื้นที่ค้าปลีกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการเปิดให้บริการใหม่ทุกปีมาโดยตลอด

ในขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์เห็นได้ชัดเจนว่ามีการขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี2560 แม้ว่าจะยังมีโครงการเปิดให้บริการใหม่ทุกปี แต่จำนวนโครงการลดลงมาก โครงการพื้นที่ค้าปลีกประเภทอื่นๆ ก็เช่นกันที่อาจจะมีการขยายตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และบางประเภทแทบไม่มีโครงการใหม่มากว่า 10 ปี 

ส่งผลให้ ในช่วงโควิด-19 โครงการพื้นที่ค้าปลีกบางประเภทบางโครงการปิดให้บริการ และไม่กลับมาเปิดให้บริการอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในโครงการประเภท คอมมูนิตี้มอลล์ และเอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ที่ให้บริการในส่วนของโรงภาพยนตร์เป็นหลัก

อัตราการเช่าพื้นที่ของโครงการพื้นที่ค้าปลีกประเภทต่างๆ ไม่แตกต่างจากไตรมาสที่ผ่านมาแบบชัดเจน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของร้านค้า หรือผู้เช่าในหลายๆ โครงการพื้นที่ค้าปลีก แต่จำนวนและสัดส่วนยังไม่แตกต่างจากไตรมาสที่ผ่านมา บางโครงการที่เพิ่งเปิดให้บริการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยังมีพื้นที่ไม่เต็มหรือเพิ่งจะมีอัตราเช่าเกือบ 100% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์โควิด-19 เพิ่งจะลดความกังวลลงไปแบบชัดเจนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ผู้เช่ารายใหญ่หรือร้านค้าแบรนด์เนมมีอำนาจในการต่อรองหรือมีความรวดเร็วในการตัดสนใจปิดสาขาหรือขยายสาขา ศูนย์การค้าบางแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีผลต่อจำนวนคนเข้าใช้บริการในศูนย์การค้า

จึงเห็นได้ว่ามีผู้เช่ารายใหญ่ยกเลิกพื้นที่เช่า และปิดสาขาไปเลย รวมไปถึงในคอมมูนิตี้มอลล์บางสาขาที่ลดความคึกคักลง ผู้เช่าที่เป็นร้านค้า  ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเลือกที่จะปิดสาขา เพราะต้องการรักษาภาพลักษณ์ และลดรายจ่ายของตนเอง

แนวโน้มของอัตราการเช่าพื้นที่ในโครงการพื้นที่ค้าปลีกในปี2566 มีทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอน เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่อาจจะยังคงต้องรออีกไม่น้อยกว่า 1 ปีกว่าที่สถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างความคึกคักให้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมืองหลายแห่ง

รวมไปถึงการที่กิจกรรมทางการตลาด และกิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการพื้นที่ค้าปลีกกลับมาสร้างสีสันและบรรยากาศอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2565 ศูนย์การค้าบางแห่งในพื้นที่ใจกลางเมืองอาจจะต้องรอจนกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้าประเทศไทยมากกว่าในปัจจุบัน