30 มีนาคม 2566 - " สภาวะโลกร้อน " ทั้งจากอากาศที่ร้อน พร้อมภัยธรรมชาติที่มากและถี่ขึ้นทุกปี สู่ "ภาวะโลกรวน" หรือ Climate change ซึ่งกำลังบ่งบอกว่า ขณะนี้โลกเราไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังคาดเดาได้ยากยิ่งขึ้นว่าในอนาคตจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงอะไรขึ้นอีก
เจาะวงการสถาปัตยกรรมและวงการก่อสร้างไทย พบผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงนักออกแบบกำลังตื่นตัวกับประเด็นดังกล่าวอย่างมาก เพราะถูกคาดหวังว่ากระบวนก่อสร้างที่ใส่ใจรายละเอียด ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การเลือกวัสดุอุปกรณ์ ประเภท Low-Carbon เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นส่วนช่วยลดคาร์บอนให้กับโลกได้
"ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ ผู้พัฒนาโปรเจ็กต์ยักษ์ "เดอะ ฟอเรสเทียส์" ที่วางแนวคิดการพัฒนาโครงการไว้อย่างเข้มข้น เหนือชั้น กับตำแหน่งผู้นำนวัตกรรมเพื่อสังคม For All Well-being ซึ่งนอกจากจะเป็นโปรเจ็กต์ ที่ปฎิวัติวงการอสังหาฯ ไทย โดยเน้นการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน เพื่อคนหลากหลายเจเนอเรชั่น เสริมสร้างสุขภาวะแก่ผู้อาศัย พร้อมกับทำเซอร์ไพร์ส สร้าง "ผืนป่า" ขนาดใหญ่ กลางเมือง เพื่อมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สรรพสิ่งแล้ว พบมิติของคำว่า "ยั่งยืน" ที่มาพร้อมกับ "พันธกิจใหม่" ที่ต้องการ ‘สร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบภายในปี 2593“ หรือ Nature Positive & Carbon Negative 2050”
จากบ้านประหยัดพลังงาน สู่ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” หรือ “Sustainnovation”
นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC เผยถึงที่มา ว่า “กว่า 30 ปี MQDC ยึดมั่นตามแนวคิด ‘For All Well-Being’ จะเห็นได้ว่า บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับลูกบ้านโครงการเท่านั้น แต่ตระหนักถึง สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า "ลูกหลานจะอยู่อย่างไร?" ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นพิษ และคุณภาพชีวิตกำลังถูกบ่อนทำลายลง อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสรรพสิ่งอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้บริษัทพยายาม คิดค้น นำนวัตกรรมหลากหลายมาปรับใช้ในการก่อสร้าง โดยมุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืน จนเกิดคำว่า " Sustainnovation " ซึ่งถูกใช้เป็นแกนในการก่อสร้างโครงการทั้งหมดของบริษัท และในอนาคต โครงการของ MQDC จะต้องดูดซับคาร์บอนกลับมาได้มากกว่าที่ปล่อยออกไปอีกด้วย”
ทั้งนี้ โครงการต้นแบบที่มีการนำ Sustainnovation มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อเดินไปสู่พันธกิจใหญ่ และจะช่วยลดภาวะโลกรวนอย่างเป็นรูปธรรมนั้น คือ " โครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์" อาณาจักรที่อยู่อาศัยของโลกยุคใหม่ ที่มีมาตรฐานระดับโลกการันตี เพราะนอกจากจะมีองค์ประกอบสำคัญอย่างผืนป่าขนาดใหญ่ พื้นที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางโครงการ เสมือนปอดฟอกอากาศ และจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและรักษาระบบนิเวศดั้งเดิมแล้ว
บริษัทยังทำการบ้านอย่างเข้มข้น ผ่านการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยศูนย์วิจัยและค้นคว้านวัตกรรมด้านต่างๆ ในองค์กรที่มีถึง 6 แห่ง นำมาซึ่งโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ ที่มีอาคารประหยัดพลังงาน การออกแบบ ระบบทำความเย็นรวมศูนย์ (District Cooling System) อาคารสาธารณูปโภคส่วนกลาง (Central Utilities Plant: CUP) แห่งแรกของไทย และมีการพัฒนา Biodiversity Standard สำหรับพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกของโลก เพื่อรักษาและส่งเสริมระบบนิเวศให้กับทุกชีวิตอย่างยั่งยืน
"จากเดิม MQDC ริเริ่ม ทำบ้านประหยัดพลังงานลดการใช้ทรัพยากรโลก เลือกสรรวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สู่ต้นแบบใหม่ 'เดอะ ฟอเรสเทียส์' ที่เป็นโครงการระดับโลก เพราะเราทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะการลงทุนเพื่องานวิจัย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนและคำนึงถึงทุกสรรพสิ่งบนโลก"
"เดอะ ฟอเรสเทียส์ " ต้นแบบโปรเจ็กต์กู้โลก
ภายใต้การกวาดรางวัลและคำชื่นชมยกย่องในหลายมิติของโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ ผู้บริโภคยุคใหม่ ตอบสนองในแง่ยอดขายอย่างน่าแปลกใจ จนขึ้นแท่นเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ขายดีในยุคโควิด-19 ชื่อของศูนย์วิจัย “RISC by MQDC" หรือ “ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ถูกเอ่ยถึงหลายต่อหลายครั้ง ในแง่ที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเบื้องหลังอภิมหาโปรเจ็กต์นี้ โดยเฉพาะการเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาใช้ได้จริง และนับจากนี้จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการเดินหน้าพันธกิจ Nature Positive & Carbon Negative 2050 ของ MQDC อีกด้วย
คีย์แมนสำคัญ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา RISC by MQDC ระบุว่า “วันนี้คำว่า Net Zero Carbon ถูกมองเป็นเรื่องยากและท้าทายกับภาคธุรกิจ เช่นเดียวความท้าทายครั้งสำคัญของ MQDC ที่กำลังตั้งเป้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนลงสู่ระดับสุทธิเป็นลบ (Carbon negative) ในปี 2050 โดยจะนำการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) มาใช้ และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร
"โครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ จึงเป็นแบบอย่างระดับประเทศ ตั้งแต่การลดการใช้พลังงาน การผลิตพลังงานสะอาดติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับโครงการ การออกแบบและใช้วัสดุก่อสร้างที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียวให้สิ่งมีชีวิตนานาชนิดและผู้คนได้ใช้ประโยชน์ และระบบท่อส่งน้ำดื่มไปถึงห้องพัก เพื่อลดขยะพลาสติก"
อาคาร คือ ธนาคารรับฝากวัสดุ
ในขณะที่ กลยุทธ์ที่จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ Nature Positive & Carbon Negative 2050 ถูกกำหนดเป็นแผนงานระยะสั้น กลางและยาว ไปจนถึงปี 2050 แกนหลักจะเน้นกระบวนการออกแบบสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ปรับมุมมองว่าอาคารเป็นเสมือนธนาคารรับฝากวัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ซึ่งเมื่อมีการใช้งานเสร็จแล้วก็สามารถถอดเอาวัสดุบางส่วนไปประกอบขึ้นเป็นอาคารใหม่ได้ ทดแทนแนวคิดเดิมที่หากอาคารไม่เป็นที่ต้องการแล้วต้องมีการทุบทำลายก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล
"เรามีการลงทุนมากถึง 6 พันล้านบาท สำหรับศูนย์วิจัย แต่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะไม่เพียงแค่เป็นประโยชน์ต่อโครงการของ MQDC เท่านั้น แต่จะเป็นทางออกของมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปต่อยอด "
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ MQDC ทิ้งท้ายไว้ อาจเป็นอนาคตที่เราอยากเห็นมากที่สุด โดย นายวิสิษฐ์ กล่าวว่า “การยกระดับวงการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในหลายมิติ ของ 'เดอะ ฟอเรสเทียส์' ต้องการปลุกให้ทุกส่วนตระหนักและเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ภายใต้ เป้าหมายของไทยที่ต้องการลดการปล่อยเรือนกระจกลงให้ได้ 30% ภายในปี 2030 หรือ ภารกิจเป็น Net Zero ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 อีกส่วนยังเห็นว่า การสร้างความสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตลอดทั้งชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ในจิกซอว์สำคัญ ของเทรนด์การทำธุรกิจยุคใหม่ ที่จะสร้างคุณค่ากลับมาเป็นความยั่งยืนทางด้านรายได้ในอนาคตเช่นกัน ...