เปิดแล้ว"กรีนพาร์ค" กลุ่มกรีนบัสเชียงใหม่นำร่องลุยพัฒนาอสังหาฯ

28 เม.ย. 2566 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 05:05 น.

“เครือชัยพัฒนา” พลิกที่ดินแปลงทองที่สันทรายเชียงใหม่ ขึ้น“กรีนพาร์ค คอมมูนิตี้มอลล์” ปรับโครงสร้าง นำร่องรุกธุรกิจใหม่กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จากแลนด์แบงก์ตามแนวเส้นทางเดินรถที่มีกระจายทั่วประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 กลุ่มชัยพัฒนาขนส่ง หรือกรีนบัสเชียงใหม่ ยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบการรถโดยสารภาคเหนือ ที่เติบโตเปิดเดินรถข้ามภาค และข้ามแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังธุรกิจเดินรถเจอผลกระทบหนักจากโควิด-19 และต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูง เดินยุทธศาสตร์ 2 ขา “การเดินทาง-อสังหาริมทรัพย์” เดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน

เปิดแล้ว\"กรีนพาร์ค\" กลุ่มกรีนบัสเชียงใหม่นำร่องลุยพัฒนาอสังหาฯ

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด เจ้าของกิจการ“กรีนบัส” หรือเมล์เขียวเชียงใหม่ เผยว่า กรีนบัสให้บริการเดินรถโดยสารทั่วภาคเหนือมากว่า 60 ปี ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19 คนงดเดินทาง และราคาน้ำมันแพง ผลักดันให้ต้นทุนการเดินรถสูงขึ้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย รายได้กรีนบัสเพิ่มกลับมาได้ที่ 70% ของรายได้ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 แต่อัตรากำไรดีกว่า เพราะค่าใช้จ่ายหลายอย่างลดลง เช่น พนักงานเดิมมีเกือบ 700 คน ลดลงเกือบครึ่งเหลือประมาณ 300 กว่าคน เป็นต้น

เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน ทิศทาง “กลุ่มชัยพัฒนาขนส่ง” จะขยายใน 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1. กลุ่มการเดินทาง (Travel) ซึ่งการเดินรถโดยสารอยู่ในกลุ่มนี้ มีเป้าหมายจะเพิ่มยอดขาย เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปลายปี 2568 หรืออย่างช้าภายในต้นปี 2569 ซึ่งจะมีแผนทั้งการขยายเส้นทางเดินรถใหม่ๆ เพื่อให้บริการประชาชนเพิ่มเติมในขอบข่ายทั่วประเทศ

เปิดแล้ว\"กรีนพาร์ค\" กลุ่มกรีนบัสเชียงใหม่นำร่องลุยพัฒนาอสังหาฯ

เปิดแล้ว\"กรีนพาร์ค\" กลุ่มกรีนบัสเชียงใหม่นำร่องลุยพัฒนาอสังหาฯ

นายสมชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะตามมาจากการขยายเส้นทางเดินรถคือ การพัฒนาศูนย์พักรถ ที่พัก บริการรถเช่า บริการขายตั๋วโดยสารออนไลน์ ที่จะให้บริการครบวงจร ทั้งตั๋วโดยสารรถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน บริการขนส่งสินค้า (คาร์โก)

จากโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว เป็นที่มาของการจะขยายธุรกิจสู่
กลุ่มที่ 2.การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมารองรับ โดยเบื้องต้นเนื่องจากธุรกิจเดิมคือบริการเดินรถโดยสาร ทำให้ต้องซื้อที่ดินตามรายทางเส้นทางเดินรถไว้เป็นที่จอดรถบัส จึงจะนำที่ดินในแลนด์แบงก์ที่มีมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ เข้าไป

“ต่อไปอาจจะทำเป็นท่ารถ พัฒนาการให้บริการเหมือนแอร์พอร์ต รองรับผู้โดยสารระหว่างรอรถ รวมถึงอาจพัฒนาเป็นพื้นที่พักรถ (Rest Area)ในเส้นทางสายหลักที่มีศักยภาพ เพราะว่า ตามกฎหมายขนส่งกำหนดให้เมื่อขับรถไป 4 ชั่วโมงแล้ว ต้องพักครึ่งชั่วโมง อาจต้องมี Rest Area เข้ามาเพื่อให้บริการกับลูกค้า”

ทั้งนี้ เครือชัยพัฒนา ได้พัฒนาโครงการกรีนพาร์ค คอมมูนิตี้ มอลล์ ขึ้น โดยบริษัท คำพรพัฒนา จำกัด เป็นโครงการแรกในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเงินลงทุน 100 ล้านบาท เนื้อที่ 5 ไร่บนถนนเชียงใหม่-สันทราย ชูจุดเด่นเรื่องพื้นที่สีเขียวกลางเมือง และ พื้นที่แห่งความสะดวก ตอบโจทย์ Lifestyle ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว

นายกานต์ เวโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป กรีนพาร์ค คอมมูนิตี้ มอลล์

นายกานต์ เวโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป กรีนพาร์ค คอมมูนิตี้ มอลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรีนพาร์คฯ เชื่อมโยงกับชื่อธุรกิจหลักในเครือชัยพัฒนา นั่นคือ Greenbus ที่ดำเนินธุรกิจเดินรถโดยสารมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี และยังเน้นย้ำความตั้งใจหลักของโครงการ ที่อยากจะสร้างโครงการที่เป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง ให้ผู้คนในเมืองได้ใช้เวลาพักผ่อน หรือแวะพักระหว่างเดินทางได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลออกไปนอกเมือง จึงเป็นทางผ่านของทั้งผู้อยู่อาศัย คนทำงาน และผู้ปกครอง ที่เดินทางไปกลับในแต่ละวัน อีกทั้งยังสามารถเป็นจุดแวะพักให้กับทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้

ทางโครงการฯ ได้คัดสรรร้านค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งอินเตอร์แบรนด์ และร้านค้าดังในเชียงใหม่กว่า 30 ร้านค้า พื้นที่จอดรถภายในและพื้นที่ด้านข้างรวม 105 คัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าทุกระดับ เข้าถึงง่าย ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยการกระตุ้นเศษฐกิจ ช่วยเพิ่มความคึกคัก สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และจะกลายเป็นย่านจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่
 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจนี้ ไปในพื้นที่ที่มีที่ดินอยู่และมีศักยภาพรองจากเชียงใหม่ เช่น เชียงราย น่าน และในหลาย ๆ พื้นที่ที่เป็นเมืองสำคัญ เช่น อำเภอแม่สาย เป็นต้น

นภาพร ขัติยะ/รายงาน
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,883 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ.2566