ทำเล"ราชพฤกษ์”เชื่อมรถไฟฟ้า4สาย ขุมทองอยู่อาศัยเพื่อคนทุกวัย  

27 มิ.ย. 2566 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2566 | 08:59 น.

“LWS วิสดอม” ชี้ “ราชพฤกษ์” ทำเลศักยภาพพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบตอบโจทย์ คนทุกวัย เชื่อมรถไฟฟ้า4สาย โฟกัส สายสีม่วง -โครงข่ายคมนาคม ดันความต้องการบ้านทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ บูม

 

 

“ราชพฤกษ์”ทำเลศักยภาพที่ดีเวลลอปเปอร์ให้ความสนใจเข้าพื้นที่ลงทุน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบรองรับคนทุกกลุ่มวัย ที่นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)วิเคราะห์ ว่าเนื่องจากมีการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม เส้นถนนหลักได้แก่ถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก ความยาว 42 กิโลเมตร ถนนชัยพฤกษ์ ทางหลวง 345 และทางหลวง 346 ที่ตัดผ่าน 3 พื้นที่ ได้แก่

ราชพฤกษ์ตอนปลาย เชื่อมต่อจังหวัดปทุมธานี ราชพฤกษ์ตอนกลาง ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และเชื่อมต่อไปยังราชพฤกษ์ตอนต้น เข้าสู่เขตติดต่อกรุงเทพฯและใจกลางเมือง สาทร-สีลม ได้อย่างสะดวกสบาย หรือการเลือกใช้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เพื่อเลี่ยงการจราจรติดขัดได้

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

 

 

ในขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าที่มีรองรับในย่านราชพฤกษ์ มี4 เส้นทาง ได้แก่เส้นทางสายสีเขียว ช่วงต้นทางของเส้นราชพฤกษ์ ช่วงสถานีบางหว้า เส้นทางสายสีน้ำเงินที่เชื่อมต่อกับสถานีบางหว้า ต่อขยายกับสถานีช่วงหัวลำโพง-บางแค และตัดกับเส้นถนนราชพฤกษ์ มีสายรถไฟฟ้าสำคัญได้แก่ MRT สายสีม่วง ช่วงระหว่างบางซื่อ-ท่าพระ สิ้นสุดสถานีที่คลองบางไผ่ เป็นรถไฟฟ้าสายที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ที่อยู่อาศัยในย่านนี้และยังเป็นเส้นที่ผ่านสถานที่สำคัญหลายที่

อาทิศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี กระทรวงสาธารณะสุข หรือต่อไปยังสายสีน้ำเงินเพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับ สายสีแดงอ่อน ที่เป็นรถไฟฟ้าชานเมืองที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม จากสถานีบางซื่อมายังสถานีบางซ่อน และมีส่วนต่อขยายไปยังพื้นที่ศาลายาได้

เมื่อพิจารณาจากเส้นทางการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว ทำเลโซน “ราชพฤกษ์” เป็นทำเลยุทธศาสตร์ของเขตปริมณฑลฝั่งตะวันตก เพราะเป็นทำเลที่มีถนนที่เชื่อมต่อกับถนนสายหลักและสายรอง สะดวกต่อการเชื่อมต่อเมืองด้วยรถไฟฟ้าสายม่วงตลอดสาย เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกความต้องการ ทำให้การเดินทางที่สะดวกอยู่แล้วยิ่งสะดวกมากกว่าเดิม

นอกจากการเดินทางที่สะดวกสบายแล้ว ย่านราชพฤกษ์ ยังเป็นย่านที่ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และรวมทั้งสถานบันเทิงที่ตอบโจทย์กับทุกรูปแบบการใช้ชีวิตในเมือง(Lifestyle)  ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เซ็นทรัล เวสต์เกต, อิเกีย บางใหญ่,เดอะ เซอร์เคิล ราชพฤกษ์,เดอะ คริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์,เดอะ วอร์ค ราชพฤกษ์ และ เทสโก โลตัส เป็นต้น รวมถึงในแง่ lifestyle อย่างร้านอาหารและคาเฟ่จำนวนมากอย่าง Chic Republic  บนถนนราชพฤกษ์ตลอดเส้นทาง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เช่น เกาะเกร็ด และวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)

ขณะเดียวกันทำเลราชพฤกษ์ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา และการสาธารณสุข ใกล้ โรงเรียนนานาชาติ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศน์, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ International ,และ โรงพยาบาลพญาไท 3 

จากการสำรวจพบว่า มี โครงการบ้านพักอาศัย ระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทที่น่าสนใจในทำเลรอบพื้นที่ศึกษาบริเวณราชพฤกษ์ตอนกลาง มีจำนวนทั้งหมด 7 โครงการ จำนวน 616 หน่วย ราคาขายเริ่มต้นที่ 5.5 ล้านบาท ขายไปแล้วทั้งสิ้น 166 หน่วยคิดเป็นสัดส่วน 27% ของจำนวนที่เปิดขายทั้งหมด โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หน่วยต่อเดือนต่อโครงการ จากจำนวนหน่วยที่เหลือคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการขายไม่เกิน 2.5 ปี 

ส่วนของราคาที่ขายดีมีราคาอยู่ที่ 5.5 ล้านบาทและ ไม่เกิน 6 ล้านบาท รูปแบบของบ้านที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 คือ บ้านแฝด ขนาดของที่ดินอยู่ที่ 37 ตร.ว. อันดับ 2 คือ บ้านเดี่ยว ขนาดที่ดินอยู่ที่ 60 ตร.ว. รูปแบบบ้านที่ขายดีคือ 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 2 ที่จอดรถ และมีห้องอเนกประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยผู้ให้ความสนใจโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ในกลุ่มคนทำงานที่ต้องการบ้านพักอาศัยติดรถไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมต่อไปยังใจกลางเมืองได้ และกลุ่มผู้ทำงานอาชีพอิสระที่ต้องการบ้านที่สามารถทำงานที่บ้านได้

ขณะการสำรวจตลาดบ้านมือสองในทำเล พบว่า มีราคาต่ำลงจากช่วงตอนเปิดตัวโครงการ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบเฉลี่ยที่ 0.63% เนื่องจากมีโครงการที่อยู่อาศัยพัฒนาใหม่จำนวนมากและมีระดับราคาไม่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ซื้อมีแนวโน้มเลือกซื้อโครงการเปิดตัวใหม่ โดยบ้านมือสองที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นประเภทบ้านเดี่ยว ขนาดที่ดินเริ่มต้น 51 ตร.ว. รูปแบบมาตรฐาน 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 2 ที่จอดรถ อัตราเช่าเฉลี่ยในทำเลที่ 10% 

โดยทำเลราชพฤกษ์ เป็นทำเลที่มีประชากรในพื้นที่เกือบ 600,000 คน เป็นประชากรในพื้นที่ประมาณ 415,000 คน และมีประชากรแฝงประมาณ 150,000 คน และเป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000-200,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อสูง โดยเป็นกลุ่มคนที่ทำงานในบริษัทและเจ้าของกิจการ  จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านพักอาศัยทั้งทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด และบ้านเดี่ยว ที่ระดับราคาไม่เกิน 5-10 ล้านบาท 

ทำเลราชพฤกษ์ เป็นทำเลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว  ทั้งการคมนาคม ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน จึงเป็นทำเลที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อโดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นคนทำงานที่ต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบที่สามารถเชื่อมต่อไปยังกลางเมืองได้ ในขณะที่ระดับราคาบ้านพักอาศัยที่น่าสนใจในทำเลนี้ยังตอบรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยเน้นการพัฒนาที่ตอบรับการอยู่อาศัยในแบบ Next Normal ทั้งการทำงานที่บ้านได้ และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ในการอยู่อาศัยในอนาคต  

ทั้งนี้หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้การใช้ชีวิตในสังคมเมืองมีการปรับตัวไปในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า New Normal หรือวิถีชีวิตใหม่ ทั้งเรื่องการทำงานและการอยู่อาศัย 

จากที่สังคมเมืองในสมัยก่อน แหล่งที่ทำงานจะอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองอย่างศูนย์กลางธุรกิจ(Central Business District: CBD) ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองมีการแข่งขันที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัวในภาคธุรกิจทุกภาคส่วน อย่างการทำงานมีการนำนโยบายการทำงานที่บ้าน (Work from home) มาใช้เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในระบบ online เข้ามาใช้สนับสนุนการทำงานในระบบนี้

ส่งผลให้ผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distance) ในปัจจุบันเรากำลังเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อก้าวไปสู่วิถีชีวิตถัดไป (Next Normal)หนึ่งในวิถี Next Normal ที่น่าสนใจคือ Stay-at-home Economy หรือระบบเศรษฐกิจการใช้จ่าย และการบริโภคภายในบ้าน อย่างการสั่งอาหารและสินค้าผ่านบริการ Delivery online หรือสื่อบันเทิงที่ใช้เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) มาใช้ องค์กรการทำงานหลายองค์กรที่ใช้การทำงานแบบ Work from home ได้นำระบบนี้มาใช้อย่างจริงจัง

แม้สถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลงมากแล้ว ดังนั้นบ้านจึงไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังกลายเป็นที่ทำงาน ห้องประชุม และรองรับกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ ผ่านการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย คนรุ่นใหม่จึงมองหาที่อยู่อาศัยที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการพักผ่อน การทำงาน และทำกิจกรรมต่างๆได้ เฉกเช่นทำเลราชพฤกษ์