การเผยโฉม ผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4)เมื่อครั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดพื้นที่สำคัญไว้ดังนี้เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองให้ขยายตัวไปตามระบบรางหรือแนวเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนพื้นที่อนุรักษ์กระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายจุดสำคัญ โฟกัส9โซนทำเลทองดังต่อไปนี้
บริเวณที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์
เริ่มจากพื้นที่ชั้นในมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.1 และ ศ.2) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) พาณิชยกรรม (พ.1 และ พ.2 ใหม่) และสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (ส.) ประกอบกับการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ(Overlay_ Control) โดยข้อกำหนดตามแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครตามกฎหมายควบคุมอาคารแต่ตามหลักการต้องยอมรับว่า
การก่อสร้างอาคารสูงบริเวณนี้ยังมีข้อจำกัดเช่นเดิม ผังเมืองเพียงต้องการสะท้อนให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงว่าเป็นย่านพาณิชย กรรมที่น่าจับตาและดึงดูดการท่องเที่ยวให้เข้าพื้นที่บริเวณนี้ได้โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เนื่องจากกรุงเทพ มหานคร ยังเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคน ที่คงมีเอกลักษณ์ที่ประเทศอื่นไม่มี เช่นวัด วัง ที่ถูกโอบล้อมด้วยชุมชนอยู่อาศัย สถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากยิ่ง
บริเวณที่ 2 รัชโยธิน
ทำเลแห่งความเจริญของกรุงเทพฯตอนเหลือ ผังเมืองรวมกทม.ใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 และ ย.7) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 และ ย.13) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
ปัจจุบันมีการพัฒนาเกิดขึ้นรอบพื้นที่รวมถึงศูนย์คมนาคมบางซื่อ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปิดบริการครบทุกเส้นทาง ที่ล่าสุดรฟท. เปิดประมูลพื้นที่ โดยมี ยักษ์ใหญ่ ร่วมชิงพื้นที่ อย่างเซ็นทรัลพัฒนาจำกัด(มหาชน) หรือCPN และคิง เพาเวอร์ ฯลฯ
บริเวณที่ 3 ดอนเมือง-หลักสี่
ย่านดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงสูง ผังเมืองรวมกทม.ใหม่จึงเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) เป็นประเภทที่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) และพาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)
บริเวณที่ 4 ลาดพร้าว-รามอินทรา
ย่านลาดพร้าว และรามอินทราสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงสูง จากการมาของรถไฟฟ้า ดังนั้นกทม.จึงปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3 และ ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.7) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)
บริเวณที่ 5 ศรีนครินทร์
นับเป็นอีกทำเลที่มีการเปลี่ยนแปลงมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองพาดผ่าน สร้างความเจริญเกิดขึ้นในพื้นที่ ดังนั้น จึงปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (อ่อนนุช-เคหะฯ) สายสีแดง (ARL พญาไท-สุวรรณภูมิ) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
บริเวณที่ 6 มีนบุรี
พื้นที่ย่านชานเมืองกทม.แต่ วันนี้ พลิกโฉม เปลี่ยนแปลงไปมากการจราจรติดขัดมีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมาก จากรถไฟฟ้าดังนั้น ผังเมืองรวมกทม.ใหม่ จึง ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) และจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.10 ใหม่) และประเภทพาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
บริเวณที่ 7 ทางนํ้าหลากฝั่งตะวันออก
โซนตะวันออกของกทม.เป็นอีกพื้นที่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะความเจริญแผ่ขยาย ส่งผลให้กทม.ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) บางส่วน เป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 ใหม่) โดยการดำเนินการปรับปรุง ขยาย และขุดคลองระบายนํ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันนํ้าท่วมและการระบายนํ้าตามแผนผังแสดงผังนํ้า
บริเวณที่ 8 ตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา
อีกทำเล ที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด รับการมาของระบบราง โดยมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) และประเภทชนบท และกษตรกรรม (ก.4 เดิม) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1, ย.3 และ ย.4) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง(ย.6 และ ย.8) และพาณิชยกรรม (พ.4 ใหม่) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) สายสีนํ้าเงิน (ท่าพระ-บางแค) และสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชัน)
บริเวณที่ 9 วงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์
นับเป็นทำเลที่มีการเปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน ทั้งจากความเจริญที่มาจากรถไฟฟ้า โครงข่ายถนน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งแนวรายแนวสูง ส่งผลให้ มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.13) รองรับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) และสายสีม่วง (เตาปูน-ครุใน)
นี่คือย่านสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงจากการมาของรถไฟฟ้า แม้ผังเมืองรวมกทม.จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงล่าช้าแต่ก็ถือว่ามาถูกจังหวะเวลา แน่นอน !!!