จ่อ พับ100ถนนผังเมืองกทม. ลดรอนสิทธิ-ไร้งบ-ดันใช้รถไฟฟ้า

18 มิ.ย. 2566 | 07:22 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 07:52 น.

กรุงเทพมหานคร จ่อ พับ100ถนน ตามผังเมืองกทม. ลดรอนสิทธิ-ไร้งบประมาณ-ผลักดันใช้รถไฟฟ้า หลังประชาชน เอกชนร้องเรียน

 

นโยบายจัดทำร่าง ผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่4) พ.ศ..ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)ให้ความสำคัญลดความแออัดจากการเดินทางเข้าเมือง โดยสนับสนุนให้มีย่านพาณิชยกรรมรอง ที่มีที่อยู่อาศัย แหล่งงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาเป็นเมืองใหม่บริเวณชานเมือง ทั้งที่ดินของหน่วยงานราชการและเอกชน

ที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือทบทวนการกำหนดแนวถนนตามผังเมืองรวมกทม. กว่า100เส้นทาง โดยเฉพาะขนาดเขตทางกว้าง12-16เมตร เพราะมองว่า 1.เกิดการรอนสิทธิประชาชน เอกชนเจ้าของที่ดิน 2.กทม.ไม่มีงบประมาณ  3. ปัญหาการคัดค้าน 4. มีโครงข่ายรถไฟฟ้าเกิดขึ้น

 รายงานข่าวจากกทม.ระบุว่า จากนโยบายต้องพิจารณายกเลิก  ปัจจุบันกำหนดไว้กว่า 140 เส้นทาง แต่ไม่สามารถเวนคืนและก่อสร้างได้ตามแผน ติดปัญหางบประมาณ  การกำหนดแนวถนนล็อกไว้ในผังเมือง เท่ากับมีผลทางกฎหมาย หากฝ่าฝืนข้อบังคับ ก่อสร้างรุกลํ้าเขตทางต้องถูกเอาผิดตามกฎหมายผังเมือง 

 ดังนั้นการ พัฒนาโครงการ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย หากมีแนวถนนผังเมืองพาดผ่านบนที่ดินจะต้องเว้นระยะถอยร่น  เผื่อไว้ ให้ได้ตามขนาดเขตทางที่กำหนดในอนาคต เพื่อลดผลกระทบด้านเวนคืน หากเมื่อใดต้องการก่อสร้างถนนลดความแออัด

ขณะเจ้าของที่ดินโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์มองว่าเป็นเรื่องที่ดีสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มพื้นที่ เนื่องจากที่ดินในกทม.มีมูลค่าสูง  หลายพื้นที่มีรถไฟฟ้าเชื่อมผ่านและที่สำคัญถนนแต่ละเส้นทางที่ขีดไว้ในผังเมืองไม่ทราบแน่ชัดว่าจะดำเนินการเมื่อใด แต่ในทางกลับกันหากเกิดความแออัดจราจรคับคั่งโอกาสขยายเขตทางและเวนคืนก่อสร้างถนนใหม่ ย่อมไม่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างถนน “ช.2” ถนนตัดใหม่ที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมกทม.ฉบับแรกๆ และเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วน แนวสายทางเริ่มจากบริเวณ ตอม่อ เกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ในเขตกทม.ข้ามไปจังหวัดสมุทรปราการ มูลค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนสูงนับหมื่นล้านบาท ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการขอทำประชาพิจารณ์เอง ขณะเจ้าของโครงการคือกทม.ทำให้โครงการดังกล่าวไม่เกิดขึ้นแต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นถนน “ช 1” หรือโครงการก่อสร้างถนนนวมินทร์ บรรจบบางนา-ตราด ในสมัยของผู้ว่าฯกทม.คนก่อน

ขณะนโยบายนายชัชชาติต้องการให้ แก้ปัญหาจราจร คือ การขยายเขตทางบริเวณชุมชนขนาดใหญ่ถนนสายสำคัญในทุกเขตในลักษณะ ขยาย หรือผายปากทางจุดทางแยกทางเชื่อมให้กว้างขึ้นและการก่อสร้างโครงข่ายถนนใหม่จะเป็นลักษณะใช้ประโยชน์ร่วมกัน เชื่อมระหว่างกทม.และปริมณฑลโดยมีงบประมาณรัฐบาลสนับสนุน 6-7เส้นทางเท่านั้น

  นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ยํ้าว่า จุดประสงค์ในการปรับปรุงผังเมืองรวมกทม. เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่า มีการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้เหมาะสมใช้ผังเมืองเอื้ออำนวยต่อการสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐที่เกิดขึ้นยาก เช่น ในที่ดินเอกชนบังคับให้มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่กักเก็บนํ้าให้เพียงพอไม่ใช่มีมิติของการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มอย่างเดียว ต้องมองสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับภาครัฐ ที่หาพื้นที่ยากขึ้นด้วย

 การตัดถนนใหม่ต้องมีการทบทวนจาก100 กว่าเส้นทาง เพราะการทำถนนแต่ละเส้นต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดินสูงมาก จึงต้องดูความเป็นไปได้ในแต่ละเส้นทางว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับการขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง คงต้องเป็นการตัดถนนเชื่อมต่อกับเขตปริมณฑล ทางรัฐบาลต้องสนับสนุน เพราะถือว่าเป็นโครงข่ายเดียวกัน

 ที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ หน่วยงานทั้งในสังกัด กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อแนวทางการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ เพื่อให้มหานครแห่งนี้ มีผังเมืองรวมที่เป็นเครื่องมือชี้นำการพัฒนาเมืองและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้มากที่สุดก่อนนำร่างผังเมืองไปปิดประกาศและจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน

ก่อนหน้านี้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. 2562 ฉบับใหม่ ที่เป็นการยกเลิก พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งตามมาตรา 110 บัญญัติว่า ผังเมืองรวมที่อยู่ระหว่างการวางและจัดทำตามขั้นตอน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 1/2564

มีมติให้ กทม.นำร่างผังเมืองรวมกทม.(ปรับปรุงครั้งที่ 4) กลับไปดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญที่จะต้องจัดทำเพิ่มเติม คือ แผนผังแสดงผังนํ้า และแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งนำไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่อีกครั้ง  คาดว่าสามารถจัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนได้ในเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2566 และประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่ในปี 2568 ต่อไป

เรียกว่าผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 น่าจะโดนใจดีเวลลอปเปอร์เพราะนอกจากจะพัฒนาได้มากขึ้นแล้ว อนาคตอาจไม่มีแนวถนนผังเมืองมาเป็นก้างตำคอ!!!

รื้อผังกทม.กับโครงข่ายถนน