thansettakij
ถอดบทเรียนตึกสูง "แอชตัน อโศก" โชคดี ไม่ถูกระเบิดทิ้งเหมือนตึกอินเดีย

ถอดบทเรียนตึกสูง "แอชตัน อโศก" โชคดี ไม่ถูกระเบิดทิ้งเหมือนตึกอินเดีย

03 ส.ค. 2566 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 11:10 น.

ถอดบทเรียนตึกสูงในเมืองนอก ที่สร้างโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เทียบกับกรณี "โครงการแอชตัน อโศก" ที่ถือว่า โชคดีกว่า "ตึกแฝดที่อินเดีย" ที่ถึงขั้นต้องถูกระเบิดทิ้ง

กรณีตัวอย่างคดีพิพาทอาคารสูง ที่โลกต้องจดจำ และเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง คือ การรื้อถอนอาคารตึกแฝด ที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชนเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งโลเกชันดังกล่าวตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเพราะการรื้อถอนที่ว่า ถ้าจะให้เรียกชัดๆ ต้องใช้คำว่า “ถูกระเบิดทิ้ง” จึงจะตรงที่สุด  

 

คดีความ 12 ปีก่อนศาลสั่งรื้อถอน

ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 รัฐบาลอินเดียสั่งรื้อถอนอาคารพักอาศัยความสูง 100 เมตร 2 หลังในเขตเมืองนอยดา อำเภอโคตมพุทธนคร รัฐอุตตรประเทศ หลังจากที่มีคดีความยืดเยื้อกลายเป็นข้อพิพาททางกฎหมายมายาวนานถึง 12 ปี ระหว่าง ชาวบ้าน กับ บริษัทซูเปอร์เทค (Supertech) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ

จนกระทั่งในปี 2564 ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ซูเปอร์เทค ผู้ก่อสร้างอาคารแฝด ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการก่อสร้าง ที่สำคัญหลายเรื่อง ทั้งยัง สมคบคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐมีการทุจริตคอร์รัปชัน ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการเว้นระยะห่างจากอาคารหลังอื่นๆในละแวกนั้น โดยอพาร์ตเมนต์บางหลังอยู่ห่างจากอาคารที่ถูกระเบิดเพียงแค่ 9 เมตร ในขณะที่กฎหมายกำหนดระยะห่างปลอดภัยเอาไว้ 20 เมตร

ภาพอดีตของตึกแฝดซูเปอร์เทค ภาพอดีตของตึกแฝดซูเปอร์เทคนอกจากนี้ ยังพบว่าอาคารแฝดดังกล่าว สร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ขอความยินยอมจากบรรดาเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ใกล้เคียง
ดังนั้น ศาลจึงมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนทำลายอาคารทั้งสองหลังนี้ทิ้ง

อาคารสองหลังดังกล่าวที่ถูกเรียกว่า “ตึกแฝดซูเปอร์เทค” ตามชื่อเจ้าของโครงการ แต่ชื่อจริงๆนั้นคือ อาคารเอเพ็กซ์ (Apex) ความสูง 32 ชั้น และอาคารเซยาน (Ceyane) ความสูง 29 ชั้น ประกอบด้วยอพาร์ทเมนท์เกือบ 1,000 ห้องที่ไม่เคยมีผู้พักอาศัยและบางชั้นยังสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากติดเรื่องคดีความ ซึ่งก่อนที่จะมีการระเบิดทำลาย เจ้าหน้าที่ต้องอพยพประชาชนในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงกับตัวอาคารออกมาก่อน จากนั้นจึงใช้วัตถุระเบิดน้ำหนัก 3,700 กรัมในการทำลายอาคารทิ้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 วินาทีเท่านั้น ทำให้เกิดฝุ่นหนาและเศษซากอาคารขนาดใหญ่ที่ทรุดพังลงมา

กว่าที่ประชาชนที่ถูกอพยพออกไปจะกลับเข้ามายังบ้านพักอาศัยของพวกเขาได้นั้น ก็เมื่อหลังจากการทำลายอาคารตึกแฝดเสร็จสิ้นลงไปแล้วอย่างน้อย 5 ชั่วโมง

ไม่มีรายงานการบาดเจ็บหรือความเสียหายต่ออาคารใกล้เคียงจากเหตุการณ์ระเบิดทิ้งอาคารตามคำสั่งศาลในครั้งนี้ 

รายงานข่าวระบุว่า ทั้ง 2 อาคารมีความสูงเกิน 97 เมตร และจุดที่อยู่ชิดกับอาคารข้างเคียงที่สุดนั้นก็ห่างกันเพียงแค่ 9 เมตร อาคารข้างเคียงที่ใกล้ที่สุดมีความสูง 12 ชั้นและมีผู้อาศัยแล้ว และเมื่อรวมอาคารใกล้เคียงทั้งหมดที่อยู่ในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบจากการระเบิดทำลายตึกแฝด ก็พบว่ามีจำนวนคอนโดมิเนียมในละแวกใกล้เคียงรวม 45 อาคาร ผู้อาศัยมีร่วมๆ 7,000 คน ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงและกลายเป็นความท้าทายอย่างที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการซากปรักหักพัง 8 หมื่นตันจากตึกแฝดที่ถล่มลงมา ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บกวาดนานนับ 3 เดือน ซึ่งเศษอิฐเศษปูนส่วนใหญ่จะนำไปใช้ถมที่ดินและรีไซเคิล ทางการท้องถิ่นระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นการทำลายสิ่งปลูกสร้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การก่อสร้างของประเทศอินเดีย และการดำเนินการก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้เป็นส่วนใหญ่

ถูกรื้อถอน (ระเบิดทิ้ง) ใน 9 วินาที หลังเป็นคดีความฟ้องร้องกันยาวนาน 12 ปี ถูกรื้อถอน (ระเบิดทิ้ง) ใน 9 วินาที หลังเป็นคดีความฟ้องร้องกันยาวนาน 12 ปีสร้างมาตรฐานที่เคร่งครัด ผิดข้อบังคับคือทุบทิ้ง

ในช่วงเวลานั้น ชาวอินเดียจำนวนมากมองว่า การตัดสินของศาลที่ให้ระเบิดทำลายตึกแฝดซึ่งเป็นอาคารสูงดังกล่าว เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่หนักแน่นเฉียบขาด และน่าจะเป็นคดีตัวอย่างเตือนใจนักลงทุนและบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การรื้อถอนอาคารที่อยู่อาศัยในอินเดียเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ก่อสร้าง ถ้าหากถูกตรวจสอบเรื่องการทุจริต ก็มักจะละทิ้งโครงการกลางทาง ไม่ทันได้ก่อสร้างให้เสร็จ

จากสถิติพบว่า ในปี 2563 มีอาคาร 4 หลังในรัฐเกรละที่ถูกรื้อถอนเนื่องจากละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม

อาคารแอชตัน อโศก อาคารแอชตัน อโศก

ทางออกของไทย กรณีแอชตัน อโศก

ส่วนอาคารแอชตัน อโศก ของไทย ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน) นั้น เป็นคอนโดสูง 50 ชั้น จำนวนที่พักทั้งหมด 904 ยูนิต ปัญหาและบริบทที่เกิดขึ้น แตกต่างออกไป ทางนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.ยืนยันแล้ววันนี้ (3 ส.ค.)ว่า ยังมีทางออกที่ไม่ต้องรื้อถอนอาคารทิ้ง ขอให้ปรับแก้-ขออนุญาตก่อสร้างใหม่ให้ถูกต้อง โดยยืนยัน กทม.ทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่โครงการแอชตัน อโศก อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ใช้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ถูกต้องได้เป็นหลัก ขณะเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ก่อสร้าง ไม่ได้ระบุถึงเรื่องการรื้อถอนอาคาร ดังนั้น การดำเนินการต้องพิจารณาไปตามกฎหมายอย่างรอบคอบ ทีละขั้นตอน ตามอำนาจหน้าที่ที่ กทม.ทำได้ โดยให้เวลาโครงการดังกล่าวในการแก้ไขไม่น้อยกว่า 30 วันนับจากทำหนังสือแจ้ง

หากโครงการยังแก้ไขไม่ได้ สามารถขอขยายเวลาออกไปได้โดยมีเหตุผลความจำเป็นรองรับ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ปี 2557 ก่อนตนเข้ามารับตำแหน่ง การดำเนินการจากนี้ ต้องรอบคอบเพราะมีผู้รับผลกระทบกว่า 500 รายที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องในคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ไปแล้ว