ทะลวงพื้นที่ปิดล้อม“แอชตันอโศก” เปิดทางเข้า-ออก ต้องทุ่มเท่าตัว 6,000ล้าน

05 ส.ค. 2566 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2566 | 03:05 น.

พื้นที่ปิดล้อมแอชตันอโศก แน่นหนา  ตั้งสมมุติฐาน ต้องหาที่ดินแก้ไขทางเข้าออกด้านหลัง โครงการสุขุมวิท 19 แยก2ต้องซื้อที่ดิน กว่า 200 ตร.ว. 16 คูหา ใช้เงินเกือบเท่าตัว 6,000 ล้าน  ราคาที่ดินตร.ว.ละ 3 ล้าน  อนันดาฯ เร่งหาทางออกเจรจากทม-รฟม.หลังศาลสั่งถอนใบยืนแจ้งก่อสร้าง 

 

กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์สำหรับ “แอชตันอโศก” คอนโดมิเนียมหรูกลางใจเมือง ที่ถูกพูดถึงกันมากหลังจาก ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง อาคาร สร้างความหวาดวิตกให้กับลูกบ้าน และผู้ที่กำลังมองหาโครงการคอนโด มิเนียมแนวรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นอย่างมาก

 

 

 

 ขณะเจ้าของโครงการ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ว่า  มีแนวทางแก้ไข โดยไม่ต้องรื้อถอน และเตรียมเดินหน้าเจรจาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางออก หลังคำพิพากษาฯ (27 กรกฎาคม2566)

 เมื่อประเมินทางออกแล้วมีไม่กี่ทาง โดยเฉพาะข้อเสนอของกรุงเทพมหานครกรณียื่นขออนุญาตฯแก้ไขทางเข้าออกโครงการให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร ความกว้างเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตรเชื่อมทางสาธารณะไม่น้อยกว่า18เมตร แต่เมื่อ มองพื้นที่โดยรอบที่โอบล้อมโครงการแอชตันอโศก แม้จะเป็นอาคารเล็กๆไม่มีความสูงแต่ทรงอิทธิพลมาก

 หากมองด้วยตาเปล่า ทำเลที่ตั้งโครงการแอสตันอโศกมีศักยภาพสูงอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT (สุขุมวิท) เพียง 50 เมตรและห่างจากสถานี BTS (อโศก) เพียง 160 เมตร ซึ่งเป็นทำเลศูนย์กลางเมืองที่น่าจับตาหาก ไม่เกิดคดีดังกล่าวเสียก่อน

  “ฐานเศรษฐกิจ”ลงพื้นที่สำรวจ พบว่า บริเวณด้านหน้าโครงการติดถนนอโศกมนตรี ถูกขนาบด้วยสองสมาคมใหญ่ เริ่มจากสมาคมนามธารีลังคัตแห่งประเทศไทยพื้นที่กว่า3ไร่ ซึ่งเป็นสมาคมชาวซิกข์ที่ นาง “สุคินเดอร์” กรรมการและสมาชิกสมาคมฯยืนยันว่าไม่ขายอย่างแน่นอน เพราะเป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวซิกข์ที่ไม่สามารถนำออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้  ขณะพื้นที่ด้านหน้าสมาคมฯจะเป็นตึกแถวเล็กๆทำกิจการการค้า

  ที่ดินแปลงถัดไป จะ เป็นพื้นที่ของรฟม.ที่เกิดจากการเวนคืนสร้างเป็นสถานีสุขุมวิทและที่บริการจอดรถรวมถึง ที่เป็นคดี ดังคือให้โครงการแอชตันอโศกเช่าที่ดินเป็นทางเข้า-ออกเพื่อเชื่อมออกสู่ถนนอโศกมนตรี(สุขุมวิท21) และอยู่ติดกับรั้ว สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ในปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เรียกว่ามีอายุเก่าแก่ เป็นอาคารทรงคุณค่า

ที่คนในสมาคมฯระบุว่าปัจจุบันมักใช้เป็นการประชุมเกี่ยวกับงานของสมาคมฯ และเปิดให้เป็นพื้นที่ให้เช่าจัดงานเลี้ยง ไม่สามารถให้ใครใช้เป็นทางเข้า-ออกได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับ พื้นที่ที่มีรั้วติดกัน กับสยามสมาคมฯ คือที่ตั้งของสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ไม่สามารถนำออกขายหรือให้เช่าได้เช่นกัน เรียกว่าที่ดินบริเวณด้านหน้าโครงการแอชตันอโศกไม่มีหนทางใดที่จะนำมาเป็นทางเข้า-ออกได้

ทางเข้า-ออกโครงการเชื่อมถนนอโศกมนตรี ที่ดินรฟม.และอยู่ติดกับสยามสมาคมฯ

ปากซอยสุขุมวิท19แยก2

สภาพด้านหลังโครงการแอชตันอโศก ซอยสุขุมวิทแยก2 ตึกแถวเรียงราย

 

ทั้งนี้หาก ทางเข้า-ออกเดิมที่เช่าที่ดินจากรฟม.กว่า 6 เมตร เพื่อรวมกับที่ดินที่มีอยู่เดิมของโครงการแอชตันอโศก กว่า 6 เมตร ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคารทั้งที่ตามข้อเท็จจริงหากมองอีกมุม เป็นขนาดความกว้างของถนนที่สามารถให้รถดับเพลิงเข้าได้ตามกฎกระทรวงควบๅคุมอาคารตามที่ตุลาการเสียงข้างน้อยเห็นแย้ง ขณะรฟม.เองปัจจุบันสามารถนำพื้นที่ไปปล่อยเช่าในหลายรูปแบบเช่นบริการที่จอดรถ ร้านค้าเชิงพาณิชย์เป็นต้น

เมื่อสำรวจย้อนไปบริเวณ ด้านหลังโครงการแอชตันอโศก หรือซอย สุขุมวิท19  (เทอร์มินอล 21) ยอมรับว่า เต็มไปด้วยตึกแถวชุมชนขนาดใหญ่ และโอบล้อมด้วยโรงแรมหรูศูนย์การค้าชั้นนำ โดยเฉพาะซอยสุขุมวิท 19แยก2 คู่กรณี เป็นตึกแถวสูง3 ชั้น ตั้งเรียงราย ประชิด หลังโครงการแอชตันอโศก  คนในพื้นที่ระบุว่า ไม่มีใครต้องการขายหากจะขายต้องขายในราคาที่สูง และ ราคาที่ดิน ในซอย19 แยก2ราคาตารางวาละ 2 -2.6 ล้านบาทต่อตารางวา  ส่วนแยกอโศกราคา 3 ล้านบาทต่อตารางวา

ชาวบ้านยืนยันว่าหากจะซื้อตึกแถวด้านหลังเพื่อเป็นทางเข้า-ออกจะต้องซื้อไม่ตํ่ากว่า 16คูหา รวมเนื้อที่กว่า200ตารางวา คำนวณที่คูหาละ14ตารางวา เฉพาะราคาที่ดินตารางวาละ 3ล้านบาท จะตกที่กว่า6,000ล้านบาท เรียกว่าเป็นราคาที่สูงเท่าตัวเมื่อเทียบกับการลงทุนโครงการแอชตันอโศก เลยทีเดียว

 นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุว่าตามข้อเท็จจริงราคาที่ดินบริเวณอโศกมนตรีประเมินไว้ที่ราคา2.6ล้านบาทต่อตารางวาขณะห้องแถวในระแวกดังกล่าว ราคาต่อคูหาเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ล้านบาทแต่ราคาที่ชาวบ้านบอกขาย ราคา 200ล้านบาทขึ้นไป อาจเป็นราคาที่ตั้งไว้สูงๆเพราะไม่ต้องการขายนั่นเอง

 ขณะนายยงสิทธิ์  โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าฯรฟม.ประเมินว่ากรณีรฟม.ให้เอกชนเช่าที่ดินเป็นทางเข้า-ออกโครงการคอนโดมิเนียม ถือว่าไม่ขัดต่อกฎหมายและที่ผ่านมาได้อนุญาตไป กว่า100โครงการ เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากกทม.ระบุว่า ที่ผ่านมากทม. ได้ออกใบอนุญาตโครงการคอนโดมิเนียมในลักษณะที่ใช้ที่ดินของรฟม.เป็นทางเข้า-ออก ไม่ตํ่ากว่า100โครงการดังนั้นหากจะตรวจสอบต้องรื้อทั้งหมด สำหรับโครงการที่ตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า

 ก่อนหน้านี้  นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ออกมายอมรับว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีแอชตัน อโศก ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โดยสำนักการโยธา กทม.จะมีหนังสือแจ้ง สำนักงานเขตวัฒนา พิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี

 

ด้านหน้าโครงการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

   การเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าอาคารชุด แอชตัน อโศก จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร บริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักงานเขตวัฒนา โดยบริษัทจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง ซึ่งก็คือเพิ่มทางเข้า-ออกโครงการให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร อยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้

               ต้องจับตาว่าในที่สุดแล้ว“แอชตัน อโศก” จะมีทางออกอย่างไร หลังต้องสะดุดกับทางเข้า-ออกโครงการ !

แอชตันอโศก