เมื่อเทรนด์โลกมุ่งสู่พลังงานสีเขียว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาสนใจความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ใส่ใจสุขภาพ ส่งผลให้ดีเวลอปเปอร์ไม่รีรอที่จะผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเช่นเดียวกับบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH บริษัทอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทยประกาศแผนยุทธศาสตร์ผนึกพลังองค์กร 3 ธุรกิจในเครือได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเฮลท์แคร์และอีคอมเมิร์ซ
ด้วยการผสานพลังแห่งนวัตกรรม เทคโนโลยีเชื่อมต่อสู่การพัฒนาสินค้า บริการ ตั้งเป้ามีสินทรัพย์ 1 แสนล้านบาท ในปี 2571 ภายใต้แนวคิด ใส่ใจเพื่อทั้งชีวิต “อยู่ดี มีสุข” ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค
ที่สร้างปรากฎการณ์ทำให้พฤกษาถูกพูดถึงมากอีกครั้ง คือการหวลคืนบ้านราคาถูก โดยอาศัยจุดแข็งและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม ตอบโจทย์คนรายได้ตํ่าเข้าถึงได้ ภายใต้โมเดล “บ้านกรีนเฮาส์” อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญเสริมธุรกิจอสังหาฯ ให้เติบโตไปพร้อมกับสร้างสังคมที่แข็งแรง ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ ต้นทุนปรับตัวสูงดอกเบี้ยขาขึ้น สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ในทางกลับกันพฤกษาเชื่อว่า การทำบ้านราคาถูกเป็นทางเลือกที่ดีทั้งสถาบันการเงินผู้ซื้อรวมถึงความสำเร็จของพฤกษาเอง
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯ มาถึงจุดเปลี่ยน ว่า ที่ผ่านมาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นรัฐบาลสนับสนุนค่าแรงขั้นตํ่า เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจะมีต้นทุนในการสร้างบ้านส่วนภาคธุรกิจ และด้านเศรษฐกิจเองมีความอ่อนไหว ตั้งแต่ค่าไฟ ค่านํ้ามัน สงครามที่เกิดขึ้น การค้าที่อาจจะมีโอกาสชะลอตัวเศรษฐกิจในยุโรป กับอเมริกา และทุกคนพูดถึง จีนซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง
ดังนั้นคนจะไหลออกเดินทางท่องเที่ยวมายังไทยอาจไม่เป็นไปตามเป้าซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งหมด จึงมองว่าปี2567 ไม่ง่าย แต่ไม่ใช่ปีที่ไม่มีความหวัง สำหรับมาตรการต่างๆที่รัฐออกมาสนับสนุนหลายด้าน ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ เช่น ตั้งแต่การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าการลดค่าไฟ พลังงานเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ ลดค่าโอนกรรมสิทธิ์-จดจำนอง
นโยบายให้ธนาคารออมสินออกมาสนับสนุนบ้านล้านหลัง เงินกู้พิเศษบ้านกรีนโลนสำหรับบ้านเพื่อพลังงานสีเขียว ฯลฯ ทั้งหลายเป็นมาตรการช่วยเหลือ เรื่องนี้ ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว โดยบริษัทมีจุดขาย สำหรับบ้านกรีนเฮ้าส์ เพราะมองว่า มาตรการนี้สังคมได้ และคิดว่าผู้ประกอบการเองต้องรู้จักนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ ทุกคนจะต้องปรับตัว
เช่นเดียวกับพฤกษา ที่พัฒนาบ้านกรีนเฮ้าส์ หนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับผลตอบรับจากตลาดค่อนข้างสูง เรื่องนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่จะคืนให้กับสังคม ในราคา 1.29 ล้านบาท ไม่เกิน1.5 ล้านบาท ที่สำคัญคนผ่อนดาวน์สามารถผ่อนได้ 3,000-4,000บาทต่อเดือน สามารถซื้อได้นั่นหมายความว่าคนที่มีค่าครองชีพขั้นตํ่าสามารถเข้าถึงได้หมด เมื่อผู้ซื้อมีกำลังซื้อ ธนาคารได้ยอดในเชิงการปล่อยกู้
ดังนั้นหลายๆอย่างพฤกษาสร้างโมเดลนี้มาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและต้องการทำตลาดนี้ให้แข็งแกร่งต่อไปอย่างไรก็ตามปี2567 ที่หลายคนมองว่าเป็นอีกปีที่ยาก แต่ในมุมของพฤกษามองว่า ถ้าจะผลิตสินค้าในรูปแบบ ดังกล่าวได้มากขึ้น รัฐบาลสนับสนุนมากขึ้น สามารถช่วยสังคมได้มากขึ้น ตัวบริษัทเองคิดว่าคงไม่ลำบากเหมือนที่เคยคิดกัน ว่าตลาดจะไปได้ยาก เพราะพฤกษามีโปรดักส์ใหม่ที่จะมาตอบโจทย์ และบ้านกรีนเฮ้าส์ไม่ใช่คอนโดมิเนียมขนาด 26 ตารางเมตร หรือ 30 ตารางเมตร
"ที่บอกว่าราคาตํ่าล้านในการตอบโจทย์ที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่ใช่แต่นี้เป็นการสร้างบ้านทาวน์เฮ้าส์ ที่มีพื้นที่กว้างสำหรับการใช้ชีวิต 2 นอน 3 นํ้าจอดรถ 1 คัน สมาร์ทโฮม สมาร์ทโซล่า อีวีชาร์จเจอร์ มีสวนขนาดใหญ่เป็นบ้านของตนเอง ที่ปลูกสร้างขึ้นพื้นที่อาคารสูง 2 ชั้น เหมือนกับบ้านราคาแพงทั่วไปในมุมกลับต้องถามว่าคนที่มีกำลังซื้อแล้วอยากได้บ้าน ซึ่งเดิมถ้าต้องการซื้อทาวน์เฮ้าส์ราคา 2 ล้านบาท แต่กู้ไม่ผ่านเพราะต้องผ่อนสูงอาจต้องมี 7,000-8000 บาทคนที่มีรายได้ขั้นตํ่าสถาบันการเงินจะไม่อนุมัติสินเชื่อแต่ที่พฤกษาคิด นั่นคือ ทำบ้านราคาตํ่าที่ผ่อน 3,000-4,000 ได้ต่อเดือน ซึ่งเป็นราคาพอๆ กับที่ต้องไปเช่าและสร้างครอบครัว มีบ้านเป็นทรัพย์สินของตนเอง"
ปีนี้ คิดว่าจะทำโครงการในลักษณะนี้ ในจำนวนมาก 6 โครงการ เป็นกรีนทาวน์เฮาส์ ในกรุงเทพมหานครในทำเลชานเมืองตอบโจทย์เรื่องการออกแบบนวัตกรรมการอยู่อาศัยการสร้างชุมชนในราคาจับต้องได้ ขณะการเปิดตัวโครงการ ต้องระมัดระวังเพราะยังมีปัจจัยท้าทาย และต้องมีกระแสเงินสดหมุนเวียนในมือที่ดีนั่นคือการผลิต, ขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่เร็ว
ที่สำคัญต้องบริหารความเสี่ยงโดยจะไม่เปิดโครงการใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าพฤกษามีสินค้ารอขายไม่น้อยกว่ายอดขายไปอีก 3 ปีข้างหน้า และเมื่อใดก็ตามที่เห็นว่า สินค้ามันน้อยกว่า ถ้าออกสินค้ามาใหม่หมายความว่าสินค้าจะต้องขายได้ในปริมาณมากขึ้น นี่คือวิธีบริหารความเสี่ยงตามแบบฉบับพฤกษา