มาตรการ”อสังหาฯ” เพิ่มระดับความเชื่อมั่น อีก 3 ไตรมาสที่เหลือ

20 เม.ย. 2567 | 04:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2567 | 05:38 น.

REIC เปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบที่อยู่อาศัยในกทม.-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี67อยู่ที่ระดับ 48.3 เริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังตํ่ากว่าระดับ50 ชี้ อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯช่วยเพิ่มระดับความเชื่อมั่นอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ

 

 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ในภาพรวมของไตรมาส 1 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 48.3 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 (QoQ) ที่มีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 47.6 และมีความเชื่อมั่นฯเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับระดับ 46.7 แต่ระดับความเชื่อมั่นฯยังคงตํ่ากว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการฯยังคงมีความเชื่อมั่นที่ฯอยู่ในระดับตํ่า แม้ผู้ประกอบการฯ จะมีความเชื่อมั่นฯเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อย แต่ก็ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ธุรกิจในภาวะปัจจุบัน

 

 ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2566 และไตรมาส 1 ปี 2567 ภาพรวมผู้ประกอบการฯมีระดับความเชื่อมั่นฯ ตํ่ากว่ามาตรฐานระดับ 50.0 ต่อเนื่องมา 5 ไตรมาส แต่พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ภาพรวมเริ่มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปลายปี 2566 ทั้งนี้ เป็นจากสาเหตุที่ผู้ประกอบการฯ ยังคงมีความกังวลในหลายด้าน ประกอบด้วย ด้านการลงทุนอยู่ในระดับ 48.6 ด้าน

ยอดขายอยู่ในระดับ 45.9 ด้านผลประกอบการอยู่ในระดับ 43.5 และด้านต้นทุนการประกอบการอยู่ในระดับ 40.3 จนเป็นผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ- ปริมณฑล ตํ่ากว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แต่ผู้ประกอบการฯ ยังคงมีความเชื่อมั่นด้านการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ ที่อยู่ในระดับ 59.0 และด้านการจ้างงาน ที่อยู่ในระดับ 52.4

 ทั้งนี้ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในหลายด้าน ประกอบด้วย ด้านการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือ เฟสใหม่มีการปรับตัวเป็นระดับ 59.0 (จากระดับ 55.5) ด้านการจ้างงานมีการปรับตัวเป็นระดับ 52.4 (จากระดับ 50.7) ด้านยอดขายมีการปรับตัวเป็นระดับ 45.9 (จากระดับ 45.1) และด้านผลประกอบการมีการปรับตัวเป็นระดับ43.5 (จากระดับ 41.8) ยกเว้นด้านการลงทุนที่ปรับตัวลงเหลือ 48.6 (จากระดับ 50.7) และด้านต้นทุนประกอบการ ปรับตัวลงเหลือ 40.3 (จากระดับ 41.5) โดยอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าระดับ 50.0

เมื่อจำแนกความเชื่อมั่นตามกลุ่มผู้ประกอบการฯ พบว่าความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทมหาชน หรือ Listed Companies  ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 52.5 มากกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีระดับ 48.1 และมากกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Com

panies เริ่มกลับมีความเชื่อมั่นเชิงบวกต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือ เฟสใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 65.0 (จากระดับ 56.3) การลงทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.0 (จากระดับ 54.2) การจ้างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.0 (จากระดับ 52.1) และด้านยอดขายที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 52.5 (จากระดับ 45.8) ยกเว้นด้านต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) ลดลงไปอยู่ระดับ 40.0 (จากระดับ 43.8)

 ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทจำกัด หรือ Non-listed Companies ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯที่ระดับ 41.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 46.8 ซึ่งยังคงตํ่ากว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies ยังคงมีความเชื่อมั่นในระดับตํ่าต่อธุรกิจในไตรมาส 1 ปี 2567 เนื่องจากมีปัจจัยลบต่างๆ หลายด้านเป็นต้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า  อยู่ที่ระดับ 57.3 โดยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ในระดับ 60.0 แต่ยังคงมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

 อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ไตรมาส 1 ปี 2567 REIC สำรวจก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันวันที่ 9 เมษายน 2567 จึงเป็นการสะท้อนความคิดและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ในช่วงก่อนหน้าที่รัฐบาลจะออกมาตรการดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามาตรการฯที่ออกมาครอบคลุมทั้งด้านการขยายกรอบการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนองให้เหลือประเภทละ 0.01% (รวม 0.02%)

ที่ครอบคลุมไปถึงบ้านระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมมั่นในทุกด้านให้ผู้ประกอบการได้มากขึ้นในไตรมาสที่เหลืออีก 3 ไตรมาส ของปี 2567 ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาโครงการใหม่ ยอดขาย และผลประกอบการโดยรวม อย่างแน่นอน