หลังจาก เพจกรมที่ดินได้โพสต์ข้อความ ระบุ กรมที่ดินรังวัดด้วย "RTK GNSS Network" แม่นยำ รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ปรากฏว่ามีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ฐานเศรษฐกิจ จึงตรวจสอบข้อมูลของ RTK GNSS Network พบรายละเอียดและวิธีการทำงาน รวมถึงประโยชน์ ดังนี้
RTK GNSS Network คืออะไร
RTK GNSS Network คือ การรังวัดรูปแปลงที่ดินด้วยระบบดาวเทียม ด้วยเทคโนโลยีโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ มีความถูกต้องแม่นยำระดับเซนติเมตร ทำให้การรังวัดรูปแปลงที่ดินมีค่าพิกัดภูมิศาสตร์ที่มีความละเอียดถูกต้องสูงเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
เนื่องจากการรังวัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดินที่ผ่านมาเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน กระทำด้วยหลายวิธี จึงทำให้ค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์ของหลักเขตที่ดินมีหลายมาตรฐาน จึงไม่สามารถตรวจสอบและแก้ปัญหาข้อพิพาทแนวเขตที่ดินได้
การใช้ RTK GNSS Network
กรมที่ดินจะต้องดำเนินการติดตั้งโครงข่ายการรังวัดดาวเทียมแบบจลน์ หรือ RTK GNSS Network ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้ติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอ้างอิง (CORS) พร้อมให้บริการร่วมกับหน่วยงานต่างๆเช่น กรมแผนที่ทหาร กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆเช่น การผังเมือง การจัดเก็บภาษี การคมนาคมขนส่ง การเกษตร การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
หลักการทำงานของ RTK GNSS Network
1. สถานีรับสัญญาณดาวเทียมอ้างอิง (CORS)
ทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียม GNSS ตลอดเวลาจากทั่วโลก และส่งข้อมูลดาวเทียมให้ศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์
2. ศูนย์ควบคุม (Control Center)
ทำหน้าที่บันทึกและประมวลผลข้อมูลดาวเทียมจากสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอ้างอิงทั้งโครงข่าย และส่งค่าปรับแก้ความคลาดเคลื่อนให้กับเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบเคลื่อนที่ของผู้ใช้งาน
3. เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบเคลื่อนที่ (Rober)
ทำหน้าที่รับสัญญาณดาวเทียมในพื้นที่ให้บริการ และเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุม เพื่อขอค่าปรับแก้ความคลาดเคลื่อน ซึ่งจะทำให้ได้ค่าพิกัดภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำในระดับเซนติเมตรทันที