ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย กำลังเผชิญกับวิกฤติ จากกำลังซื้อที่หดหายไป โดยเฉพาะในบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มจาก 50% เป็น 70% ส่วนกลุ่มราคาบ้าน 3-5 ล้านบาท จากเดิม 40% เพิ่มเป็น 50% และกลุ่มราคามากกว่า 5 ล้านบาท อยู่ที่ 40% จากเดิมกว่า 30%
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า การปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากมาตรการ Responsible Lending ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเมื่อขายไม่ออกก็จำเป็นจะต้องนำบ้านกลับมาขายใหม่ ก็จะโดนปฏิเสธสินเชื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางราย ปรับตัวมีการตั้งบริษัทลูก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของตัวเอง บางรายก็มีการออกหุ้นกู้ แต่ผู้ที่ยังสามารถประคองสถานการณ์ไปต่อได้คือบริษัทมหาชน ที่เป็นรายใหญ่ในตลาดเท่านั้น ส่วนรายย่อยถือว่ามีปัญหาพอสมควร
“เมื่ออสังหาฯ โอนไม่ได้ ผู้ประกอบการไปขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อทำโปรเจคใหม่ แบงก์ก็ไม่ให้ เพราะเขารู้ว่าตลาดกำลังมีปัญหา โดยเฉพาะอสังหาฯที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่”
ขณะเดียวกันยอดหนี้เสียในกลุ่ม GenY นั้น ก็สะท้อนถึงกำลังซื้อในกลุ่มนี้ที่เป็นปัญหา รายได้ไม่พอรายจ่าย กำลังซื้อน้อย จากภาวะเศรษฐกิจเติบโตช้า ผู้ประกอบการหลายรายจึงหันไปทำตลาดบน ขายบ้านราคาแพง ในขณะที่บางรายจับตลาดกลุ่มชาวต่างชาติ ทำให้ปัจจุบันอสังหาฯ ในกลุ่มนี้ เริ่มมีมากกว่าความต้องการแล้ว
โดยการที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อออกมา ประกอบกับงบประมาณที่ล่าช้าช้า และการส่งออกที่กำลังมีปัญหา ทำให้กลุ่มที่อยู่ได้คือภาคการท่องเที่ยวและโรมแรม แต่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงหน้าฝน และภาคเหนือมีปัญหาหมอกควัน ก็กำลังจะชะลอตัวลง รายได้ไม่กระจายตัวเหมือนเดิม
“ปัจจุบันแบงก์เข้มงวดมาก ดูถึงบริษัทของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อ ดูถึงเชิงลึก หากงบการบริษัทนายจ้างติดลบอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็อาจจะทำให้กู้ไม่ผ่าน และมีประวัติการเปิดดูเครดิตไปแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ เริ่มไม่ขอรับการจัดสรรค์ที่ดิน ลดการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ รวมถึงมีเดเวลล็อปเปอร์รายใหญ่บางรายถึงขั้น สร้างบ้านหลังเดียว หรือ หมู่บ้านขนาดเล็ก ขายในตลาด ก็ทำให้ส่งผลกระทบธุรกิจรับสร้างบ้านอีก