"EEC Academy" ชี้เทรนด์ธุรกิจก่อสร้างปี 67 เน้นลดปล่อยคาร์บอน

24 พ.ค. 2567 | 07:21 น.
อัพเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2567 | 07:21 น.

"EEC Academy" ชี้เทรนด์ธุรกิจก่อสร้างปี 67 เน้นลดปล่อยคาร์บอน มุ่งตามแนวทางเวทีการประชุมสหประชาชาติ COP27 - COP28 จากถ้อยแถลงรัฐบาลแสดงจุดยืนของประเทศไทย ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608

ดร.เกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด สร้าง เปิดเผยถึงมุมมองธุรกิจก่อสร้างปี 67 ว่า จะมุ่งตามแนวทางเวทีการประชุมสหประชาชาติ COP27 - COP28 จากถ้อยแถลงรัฐบาลแสดงจุดยืนของประเทศไทย ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า ภายในปี 2593 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งลดคาร์บอน แต่ทั้งโลกต้องช่วยกัน จึงทำให้เกิด Green Finance โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนทางการเงินกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อส่งเสริมการลงทุนลดคาร์บอน ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศไทย
 

อีกทั้งประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานสีเขียวให้มากขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอีกหลายประเทศ จะมีเงื่อนไข Global Policy แหล่งพลังงานของไทยต้องเป็นพลังงานสีเขียว เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน  ถ้าประเทศไทยไม่มีพลังงานสีเขียวรองรับ นักลงทุนก็จะมองหาแหล่งลงทุนใหม่แทน

"EEC Academy" ชี้เทรนด์ธุรกิจก่อสร้างปี 67 เน้นลดปล่อยคาร์บอน

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญ คือ การก่อสร้างอาคารนอกจากวัสดุต้องลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว การใช้พลังงานในอาคารต้องลดการปล่อยคาร์บอนด้วย ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวทำให้เกิดปรากฏการณ์การย้ายออกจากอาคารที่ปล่อยคาร์บอนสูง ไปสู่อาคารที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

"จากเทนรด์ที่โลกก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) EEC Academy หน่วยงานภายใต้บริษัท EEC Group กลุ่มบริษัทผู้ออกแบบและที่ปรึกษางานวิศวกรรมชั้นนำ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงดำเนินการร่วมกับ ASHRAE Thailand องค์กรผู้กำหนดมาตรฐานระบบปรับอากาศระบายอากาศรวมถึงการใช้พลังงานระดับโลก สาขาประเทศไทย จัดงานสัมมนานานาชาติ The Nova Symposium 2024 หัวข้อ The Net-zero Carbon Transition”

ดร.เกชา กล่าวอีกว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปีนี้ถือว่าซบเซา ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย ประสบปัญหาด้านตลาดและกำลังซื้อ อีกทั้งโครงการใหญ่ระดับเมกะโปรเจคของรัฐบาลชะลอการลงทุน หลายโครงการสะดุด ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องหยุดชะงัก อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาเมืองใหม่ภาคตะวันออก สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดธุรกิจก่อสร้างปี 2567 ต่ำกว่าคาดการณ์หลายแสนล้านบาท