"ภาษีที่ดิน" ปี67 กทม. สแกน ที่ดิน 2ล้านแปลง คอนโด1ล้านห้องเรียกเก็บเต็ม100%

01 มิ.ย. 2567 | 23:34 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2567 | 00:46 น.

ลุยเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ปี 2567 เต็ม100% ไม่มีมาตรการลดหย่อน กทม. สแกนที่ดิน 2.1 ล้านแปลง บ้าน 2.2ล้านหลัง คอนโด1ล้านห้อง  กระทรวงการคลัง ทบทวน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสร็จปีนี้ ด้าน บิ๊กอสังหาฯ ชงเก็บอัตราเดียวชี้ประชาชนสับสน ที่รกร้างได้รับยกเว้น

 

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ เรียกเก็บภาษีจริงนับตั้งแต่ปี 2563 สมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่เป็นจังหวะของการระบาดโควิด จึงเป็นเหตุให้ต้องลดหย่อนภาษีลง 90% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนเป็นเวลา 2 ปี หรือปี 2563-2564 และอัดฉีดงบประมาณชดเชยรายได้ ที่ขาดหายไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,849 แห่ง ไม่รวมกรุงเทพมหานคร และ ปี 2565 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวธุรกิจกลับมาเปิดกิจการประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ

ขณะท้องถิ่นยังได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ เป็นเหตุให้รัฐบาลในขณะนั้น เรียกเก็บภาษีที่ดินฯเต็มอัตรา 100% แต่เนื่องจากมีการเรียกร้องจากสภาหอการค้าไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ขอผ่อนผันต่อเนื่อง จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นจากพิษโควิด ส่งผลให้ ปี2566 “รัฐบาลประยุทธ์” ได้ประกาศลดการจัดเก็บภาษีลง 15%

 

 

การทบทวน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มเคลื่อนไหว ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา พิจารณาว่ากฎหมายภาษีดังกล่าวมีอะไรที่จำเป็นต้องปรับปรุงหรือไม่ ซึ่งผลการทบทวนจะแล้วเสร็จปีนี้ โดยหลายฝ่ายประเมินว่ามีช่องว่างอยู่มากโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) มองเห็นถึงความเหลื่อมลํ้า  ที่ดินใจกลางเมืองแนวเส้นทางรถไฟฟ้า พบแลนด์ลอร์ด นำมาพัฒนาเป็นแปลงเกษตร ปลูกกล้วย มะนาวฯลฯ ลดภาระค่าใช้จ่าย ขณะคนซื้อคอนโดมิเนียมบ้านหลังที่สองใกล้สถานศึกษาหรือ เพื่ออยู่อาศัยใกล้แหล่งงานกลับต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก 

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ประเมินการจัดเก็บรายได้จากภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี2567เรียกเก็บเต็ม100% ไม่มีมาตรการลดหย่อนเหมือนปีทีผ่านมา คาดว่าจะเรียกเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น กว่า15,000ล้านบาท เมื่อเทียบจากปีก่อนที่เก็บรายได้จากมาตรการลดหย่อน 15% สามารถจัดเก็บได้ กว่า12,000ล้านบาท 

โดยพื้นที่กทม.มีสิ่งปลูกสร้างขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีทั้งการยุบรวมแปลงที่ดินหลายแปลงเป็นแปลงเดียว เพื่อพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม และการแบ่งแยกแปลงที่ดินจากโฉนดแปลงเดียวเพิ่มเป็นแปลงย่อยหลายแปลง เพื่อพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ส่วนที่ดินว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ยอมรับว่าหลายแปลงนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรปลูกกล้วย มะนาว ฯลฯ ทั้งนี้ หากกระทรวงการคลังทบทวนแก้ไขกฎหมายให้เกิดความชัดเจน เชื่อว่าจะเก็บภาษีได้มากขึ้น

 

จากการสำรวจแปลงที่ดินในกทม.พบว่ามีประมาณกว่า2ล้านแปลง ในจำนวนนี้ต้องแยกออกมาว่าเป็นที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ ที่ดินเกษตร ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เช่นที่จอดรถยนต์ ขณะสิ่งปลูกสร้างมีกว่า2 ล้านหลังที่เพิ่มมากขึ้นคือที่อยู่อาศัยรวม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินนั้น เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องออกไปสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เนื่องจากแต่ละประเภทมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ปัจจุบันกทม.ได้ประเมินการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วเสร็จ 99.4%ของแปลงที่ดินทั้งหมด คิดเป็นแปลงที่ดินที่สำรวจแล้ว 2.1 ล้านแปลง เป็นจำนวนบ้าน 2.2 ล้านหลังเป็นคอนโดมิเนียม 1 ล้านห้อง และ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างสมบูรณ์ไม่ตกหล่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่ง ยกระดับการทำงานให้มีความเข้มข้น โดยภารกิจของกระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมที่ดิน  คือ

1. ตรวจสอบรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ครบถ้วน อัปเดตโฉนดที่ดินให้เป็นรูปแบบดิจิทัล

2. พัฒนาระบบจัดเก็บบัญชีสำหรับเจ้าหน้าที่อปท.โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มความแม่นยำ

3. พัฒนามาตรฐานการคำนวณอัตราภาษี และกำหนดขั้นตํ่าในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ในท้องถิ่น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินนั้น เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องออกไปสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เนื่องจากแต่ละประเภทมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ปัจจุบันกทม.ได้ประเมินการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วเสร็จ 99.4%ของแปลงที่ดินทั้งหมด คิดเป็นแปลงที่ดินที่สำรวจแล้ว 2.1 ล้านแปลง เป็นจำนวนบ้าน 2.2 ล้านหลังเป็นคอนโดมิเนียม 1 ล้านห้อ

อย่างไรก็ตามการทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คาดว่าปีนี้น่าจะทราบว่า ต้องแก้ไขปรับปรุงมากน้อยแค่ไหน ส่วนในปี 2567 ไม่มีมาตรการลดภาระภาษีที่ดินให้กับประชาชน ทำให้คาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ ขึ้นสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าในอนาคตรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเพิ่มขึ้น และโอกาสที่รายได้จะลดลงแทบไม่มี เนื่องจากฐานภาษี คือมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งราคาสูงขึ้น

 

นายลวรณ กล่าวว่า จำนวนรายที่เสียภาษี พบว่า ในปีแรกของการจัดเก็บภาษี มีคนจ่ายภาษีนี้เพียง 7 ล้านราย แต่ในปี 2565 มีผู้เสียภาษีที่ดินมากถึง 16 ล้านรายกฎหมายภาษีที่ดินดังกล่าว ถูกริเริ่มเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และสามารถผลักดันเป็นกฎหมายในปี 2562 โดยเริ่มจัดเก็บภาษีนี้ครั้งแรกในปี 2563 แต่เป็นปีที่ประเทศเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลจึงตัดสินใจลดภาระภาษีดังกล่าว 90% เพื่อบรรเทาภาระให้กับประชาชน และปี2566 ลดภาระภาษีลง15%

ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้าน ระบุว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังกังวล กรณีประชาชนมีความสับสนมีการลดหย่อนยกเว้นหลายกรณี และที่รกร้างว่างเปล่ามีช่องโหว่ เกิดการตีความการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการประเมินเพื่อลดค่าภาษีได้ มีการเจรจาได้ ซึ่งไม่แน่ใจเก็บรายได้เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% หรือไม่ ขณะเดียวกันต้องการเสนอแนะให้รัฐ ปรับปรุงภาษีที่ดิน โดยเรียกเก็บในอัตราเดียวเช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ต้องจัดเก็บในหลายอัตรา ให้เกิดความซับซ้อน เพราะอสังหาฯแต่ละประเภทมีมูลค่าในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นหาก มีมูลค่าสูง เจ้าของที่ดินจะเสียภาษีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

สำรวจแปลงที่ดิน บ้าน คอนโดในกทม.เพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินปี67