การถือครองที่ดินของคนต่างด้าว กรมที่ดิน ชี้แจงแล้วถือครองได้หรือไม่

06 มิ.ย. 2567 | 03:11 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2567 | 03:17 น.

การถือครองที่ดินของคนต่างด้าว กรมที่ดิน เฉลยแล้วสามารถถือครองได้หรือไม่ ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดคลิกอ่านด่วน

การถือครองที่ดินของคนต่างด้าว กรมที่ดิน  ได้ออกมาเปิดเผยว่า คนต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ 3 กรณี ดังนี้

1.รับมรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

2. สำหรับคนต่างด้าวจะขอซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ต้องเป็นคนต่างด้าวที่นำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่ได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ตามนัยมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

3.รับโอนที่ดินตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เป็นต้น

การถือที่ดินแทนคนต่างด้าว มีความผิดตามกฎหมาย..มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

 

สำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าว และ ยังคงถือสัญชาติไทยเหมือนเดิม ไม่ได้สละสัญชาติไทย มีความประสงค์จะซื้อบ้านพร้อมที่ดิน สามารถซื้อได้โดยบุคคลสัญชาติไทย และ สามีที่เป็นคนต่างด้าว ต้องบันทึกยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าเงินที่บุคคลสัญชาติไทยนำมาซื้อที่ดินทั้งหมดเป็นสินส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว มิใช่สินสมรสพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับผู้ขอได้ และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนฯ แล้ว ที่ดินย่อมตกเป็นสินส่วนตัวของบุคคลสัญชาติไทย

 

หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าว แต่ยังไม่ได้สละสัญชาติไทยยังคงมีสิทธิถือครองที่ดินได้เช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย แต่ถ้าได้สละสัญชาติไทยแล้ว มีสิทธิขอได้มา ซึ่งที่ดินได้ ตามนัยมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

กรณีถือครองที่ดินก่อนสละสัญชาติไทย ต่อมาเมื่อได้สละสัญชาติไทย ก็ให้คงมีสิทธิถือที่ดินได้เท่าที่คนต่างด้าวนั้นจะพึงมี ตามนัยมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น ที่อยู่อาศัยครอบครัวละไม่เกิน 1 ไร่ นอกจากนั้นให้ทำการจำหน่าย.

 

ที่มา: กรมที่ดิน