ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งในด้านเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตอันใกล้
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 45.2 ลดลง 3.1 จุด จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 2.3 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ลดลงมากที่สุด 9.9 จุด มาอยู่ที่ระดับ 49.1 จากระดับ 59.0 รองลงมาเป็นด้านผลประกอบการลดลง 4.0 จุด มาอยู่ที่ระดับ 39.5 จากระดับ 43.5 ด้านการจ้างงานลดลง 3.7 จุด มาอยู่ที่ระดับ 48.7 จากระดับ 52.4 ด้านต้นทุนการประกอบการทีการผกผัน ซึ่งลดลง 1.4 จุด มาอยู่ที่ระดับ 38.9 จากระดับ 40.3 และด้านการลงทุนลดลง 1.0 จุด มาอยู่ที่ระดับ 47.6 จากระดับ 48.6 มีเพียงด้านยอดขายที่เพิ่มขึ้น 1.4 จุด มาอยู่ที่ระดับ 47.3 จากระดับ 45.9
และเมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) มีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 52.2 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 52.5 แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลาง 50.0 ในขณะที่บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียน (Non-listed Companies) มีความเชื่อมั่นลดลงอย่างมากมาในสภาวะปัจจุบัน เนื่องจากมีปัจจัยลบต่าง ๆ หลายด้าน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงในเกือบทุกด้าน โดยส่งผลให้ดัชนีในภาพรวมอยู่ที่ระดับ 34.6 จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 41.9
ดร.วิชัย ยังได้กล่าวถึง การคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ซึ่งคาดว่า จะอยู่ที่ระดับ 51.4 ลดลง 5.9 จุดจากไตรมาสก่อนที่ 57.3 และลดลง 10.7 จุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 62.1 แต่ยังคงสูงกว่าค่ากลาง สะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ ด้านยอดขายปรับตัวลดลงมากที่สุด 12.0 จุด มาอยู่ที่ระดับ 54.4 จากระดับ 66.4 รองลงมาคือด้านผลประกอบการลดลง 9.0 จุด มาอยู่ที่ระดับ 51.0 จากระดับ 60.0 ด้านการลงทุนลดลง 6.3 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.1 จากระดับ 60.4 การเปิดตัวโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ลดลง 4.0 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 64.4 จากระดับ 68.4 และด้านการจ้างงานลดลง 3.8 จุด โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.2 จากระดับ 54.0 อย่างไรก็ตาม ด้านต้นทุนการประกอบการที่คาดว่าจะมีการผกผัน มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 0.2 จุด ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.6 จากระดับ 34.4 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัท พบว่า กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนี ความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับระดับ 54.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีระดับ 60.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Listed Companies ยังคงมีความเชื่อมั่นลดลงจากเดิมเล็กน้อยต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และหากพิจารณาในแต่ละด้านพบว่า มีความเชื่อมั่นลดลงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการเปิดตัวโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 67.3 (จากระดับ 77.5) ด้านยอดขายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.5 (จากระดับ 70.0) ต้นทุนการประกอบการคาดว่าจะผกผัน ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 32.7 (จากระดับ 37.5) ด้านผลประกอบการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.3 (จากระดับ 62.5) ด้านการลงทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.7 (จากระดับ 60.0) และด้านการจ้างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.9 (จากระดับ 52.5)
ขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 46.3 ลดลงจากไตรมาส ก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีระดับ 53.1 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีความเชื่อมั่นลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะ ด้านยอดขายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.8 จากระดับ 60.9 ด้านผลประกอบการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.0 จากระดับ 56.3 ด้านการลงทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.8 จากระดับ 60.9 และด้านการจ้างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.5 จากระดับ 56.3 ในขณะที่ด้านต้นทุนการประกอบการผกผัน มีระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 37.5 จากระดับ 29.7 และการเปิดตัวโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60.0 จากระดับ 54.7
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ได้แก่ การไม่มีการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 2.5% และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน และเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีรายได้เพิ่มขึ้นน้อย ขณะที่ปัจจุบันมีค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่ความสามารถในการซื้อลดลง