นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยว่า บริษัทสามารถปิดดีลขายคอนโดมิเนียมโซน BTS สายสีเขียวฝั่งสมุทรปราการ แบบบิ๊กล็อต จำนวน 2 โครงการ 415 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 1,023 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA โดยโครงการที่ขายบิ๊กล็อตในครั้งนี้ ประกอบด้วย
“นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเดินหน้าธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่การขายคอนโดให้แก่ผู้อยู่อาศัยทั่วไป แต่มองตลาดกว้างขึ้น ด้วยการขายให้บริษัทที่มีความมั่นคง มีฐานการผลิตในประเทศไทย และต้องการที่อยู่อาศัยให้พนักงานจำนวนมาก”
ทั้งนี้ รายการขายบิ๊กล็อตให้กับกลุ่มเดลต้าในครั้งนี้ บริษัทได้รับเงินมาแล้วกว่า 80% แบ่งเป็น ยอดโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการพร้อมอยู่ไนท์บริดจ์ สุขุมวิท-เทพารักษ์ และเงินรับล่วงหน้าโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ สายลวด สเตชั่น ก่อนที่โครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1/2568 เพื่อเป็นสวัสดิการให้กลุ่ม Expat ของ DELTA ที่เข้ามาประจำการทำงานระยะสั้น-กลางในไทย
สำหรับการขายบิ๊กล็อต กำลังเป็นโมเดลที่ดีเวลล็อปเปอร์อสังหาฯหลายรายกำลังให้ความสนใจ หลังกำลังซื้อในตลาดซบเซาจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงในช่วงนี้ โดยนายพีระพงศ์ ระบุว่า โมเดลนี้ช่วยสร้างทั้งยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัทได้อย่างรวดเร็ว เช่น ยอดขายบิ๊กล็อตของโครงการออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ สายลวด สเตชั่น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 25% ของโครงการ ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการสภาพคล่อง ช่วยให้รอบของการใช้เงินทุนสั้นลง
นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาสินค้าฟังก์ชันใหม่ เช่น ห้องเพดานสูง 4.2 เมตร ตอบโจทย์ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวภายใต้ Origin Investment Property Program และกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ส่วนการเปิดตลาดกลุ่มลูกค้าแบบ B2B แบบบิ๊กล็อต ก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ดำเนินการอยู่
โครงสร้างธุรกิจออริจิ้น ‘พร็อพเพอร์ตี้’
1.ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย (Residential Development Business)
2.ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business)
3.ธุรกิจบริการ (Service Business)
4.ธุรกิจเมกะเทรนด์ระยะยาว (Mega Trends)
การระบายสต็อกที่อยู่อาศัยเหลือขายในมือของผู้ประกอบการแบบบิ๊กล็อต กำลังเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผู้ประกอบการเร่งทำในช่วงนี้ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่มีผู้ประกอบการหลายรายพยายามหาช่องในการระบายสต็อกกันมากที่สุด ซึ่งในปีนี้มีข่าวการปิดดีลการขายคอนโดแบบบิ๊กล้อตหรือขายพร้อมกันครั้งละมากๆ ให้กับผู้ซื้อรายเดียวอยู่หลายดีล
ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ก็ยอมรับว่าเคยมีการเจรจาขายคอนโดมิเนียมพร้อมผู้เช่ากว่า 40% ในโครงการของบริษัทให้กับบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าออกมา
โดยก่อนหน้านี้ นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LPN เคยกล่าวถึงแนวทางการบริหารบริษัทภายหลังจากการเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า บริษัทฯ มีแนวทางในการสร้างความสมดุลใน 3 มิติ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมๆ กันในทุกมิติ (Stronger Together) ได้แก่ 1. Rebalance Portfolio 2. Rebalance Resource และ 3. Rebalance Stakeholders’ Wealth เอาไว้ด้วย
ขณะที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ MQDC มีการขายที่อยู่อาศัยในสต๊อกให้กับบริษัทนายหน้าจำนวน 2 ดีล โดยบริษัท ไนท์สบริดจ์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด จองคอนโดมิเนียม 100 ห้องในโครงการวิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน ของ MQDC มูลค่ารวมประมาณ 1,700 ล้านบาทเพื่อนำไปขายให้กับผู้ซื้อชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ยังพบการขายบิ๊กล้อตมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาทในโครงการเดอะ วิสซ์ดอม ฟอเรสเทียส์ มายโทเปีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายในโครงการเดอะฟอเรสเทียส์ ให้กับบริษัท ซูเปอร์ สยาม เรียลตี้ จำกัด