ผศ.ดร.สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากกรณีการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น ขณะนี้กระแสสังคมได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก
จากก่อนหน้านี้ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม, การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หาแนวทางในการพัฒนาบริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ของ กทท. ที่มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 2,353 ไร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น เพื่อต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ลดปัญหาความแออัดของชุมชน, แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด, แก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร ซึ่งรวมถึงการย้ายคลัง และโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย
ผศ.ดร.สานิต กล่าวต่อว่า นอร์ทกรุงเทพโพลได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 - 30 กรกฎาคม 2567 จากประชาชนจำนวน 2,500 คน ในเรื่องการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) พบว่า ประชาชนกว่า 70.3% ทราบถึงโครงการการย้ายท่าเรือคลองเตย
มีเพียง 29.7% ที่ไม่ทราบเรื่อง โดยการสำรวจ ระบุว่า มีประชาชนส่วนใหญ่ 70.7% เห็นด้วยต่อการย้ายท่าเรือกรุงเทพ ขณะที่ ไม่เห็นด้วย 16.2% และไม่แสดงความคิดเห็น 13.1%
ขณะเดียวกันจากการสำรวจเมื่อถามคิดเห็นถึงการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จะทำให้เกิดประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เดิมอย่างไร ผลสำรวจ พบว่า ประชาชน 40.2% ระบุว่า จะสามารถผสมผสานการใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน
ขณะที่ใช้ในเรื่องอื่น ๆ 18.4%, ใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ด้อยโอกาส 16.7%, ใช้เป็นสวนสาธารณะ 11.3%, ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 10.2% และใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3.2%
เมื่อถามถึงช่องทางในการทราบโครงการการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) พบว่า ส่วนใหญ่ 34.9% รับทราบจากช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากการรับทราบแผนการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จาก อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ 24%
นอกจากนี้ 14.2% ระบุว่า รับทราบข้อมูลจากแผ่นพับ โปสเตอร์ เอกสารประชาสัมพันธ์ ส่วน 12.4% ระบุว่า รับทราบข้อมูลจากวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี
นอกจากนี้ 9.3% ระบุว่า รับทราบข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ วารสาร และ 5.2% รับทราบข้อมูลจากเอกสารเผยแพร่จากทางราชการ