UPM เผยที่อยู่อาศัย EEC ยังโตต่อเนื่อง สวนทางเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว

06 ก.ย. 2567 | 08:29 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 09:02 น.

ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ EEC ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนเอกชน และการสนับสนุนจากรัฐที่แข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจไทยจะยังชะลอตัว ผศ.ดร.อรุณชี้ปัจจัยบวกและโอกาสของผู้ประกอบการ

ผศ.ดร.อรุณ ศิริจานุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูไนเต็ด โปรเจคต์ แมเนจเมนท์ จำกัด (UPM) กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า แม้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงซบเซาและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน EEC ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงสูง ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

โดยอ้างอิงจากสำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนานาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่ EEC มีการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมทั้งประเทศ อยู่ที่ 3.2% เป็นกลุ่มเกษตรกรรม 2.6% อุตสาหกรรม 2.6% และธุรกิจบริการ 4.2%อีกทั้งข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2567 ระบุว่า มีการลงทุนสะสมของปีนี้ในพื้นที่ EEC มูลค่า 3,105 ล้านบาท

พื้นที่ EEC ยังคงได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและครบครัน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และระบบขนส่งที่เชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ และเมืองสำคัญอื่นๆ ซึ่งทำให้การเดินทางและการขนส่งในพื้นที่นี้สะดวกยิ่งขึ้น

อีกทั้ง การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ และเทคโนโลยีในพื้นที่ EEC ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอตสาหกรรมกลุ่ม Smart Industry เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนรถยนต์ และรถ EV ซึ่งปรับเปลี่ยนไปจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม ยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย

เนื่องจากมีแรงงานที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงสูงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2025 จะมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงเดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ EEC อย่างเต็มที่ โดยมีการออกนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาความยั่งยืนในพื้นที่นี้ ทั้งในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

รวมถึงการสนับสนุนภาคท่องเที่ยว ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นศักยภาพในการเติบโตอย่างมั่นคงของตลาดที่อยู่อาศัยใน EEC

อย่างไรก็ตาม อาจต้องเผชิญความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยใน EEC เช่น ต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูง และการปฏิเสธสินเชื่อของแบงก์ เนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูง

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายของการขยายตัวในพื้นที่ EEC เนื่องมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐสาสตร์ ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการลงทุนของชาวต่างชาติ และอาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาดในอนาคต

ด้านนางสาวปีณิตา ศิลปสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮมตัน โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (HHR) เปิดเผยว่า การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะในด้านการขยายและจัดตั้งโรงงานยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปีแรกของปี 2566 กับ 2567 พบว่า จำนวนโครงการลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้นถึง 92% และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 17% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากชาวจีน

ทั้งนี้ การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ EEC เพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันอัตราการเข้าอยู่ในพื้นที่มีถึง 80% ประกอบด้วยชาวไทย 35% ชาวจีน 30% ชาวญี่ปุ่น 20% มาเลเซียและอินโดนีเซีย 10% และชาวเยอรมัน 5%

HHR ได้เข้ามาบริหารจัดการที่อยู่อาศัยให้เช่าในโครงการต่างๆ เพื่อรองรับดีมานด์เหล่านี้ โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลทั้งสิ้น 10 โครงการ ในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง และอาจขยายการบริหารจัดการไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ตามกลุ่มเป้าหมายในอนาคต 

นอกจากนี้ HHR ยังเน้นการให้บริการอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับเทรนด์การมองหาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เช่น บริการซักรีด Co-Kitchen และพื้นที่บันเทิง รวมถึงการอบรมบุคลากรให้มีมาตรฐานการให้บริการ

ผศ.ดร.อรุณ ศิริจานุสรณ์

ผศ.ดร.อรุณ ยังกล่าวเสริมถึงภาพรวมของตลาดในพื้นที่ EEC ว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยมีการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มบริการ เช่น การท่องเที่ยวและเฮลท์แคร์ ยังคงเป็นจุดแข็งที่สำคัญของประเทศ

โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้ามาพัฒนาโครงการเพิ่มขึ้นราว 60-70% จากเดิม แต่การขยายนิคมอุตสาหกรรมยังทำให้ในพื้นที่นี้มีดีมานด์อยู่มาก รวมถึงการสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐในการกระตุ้นกำลังซื้อยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในภาคอสังหาฯ ไทย

ทั้งนี้ หากนโยบายดึงกำลังซื้อจากชาวต่างชาติที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ได้สานต่อก็จะส่งผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ และดึงดูดนักลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ด้านผลกระทบบางประการจากนโยบายภาครัฐยังจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาและหารือกันเพิ่มเติม เพื่อให้การพัฒนาในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป