น้ำท่วมทุบซ้ำเศรษฐกิจ เปิดเกณฑ์ชดเชยเชียงรายอ่วมสุด

17 ก.ย. 2567 | 23:54 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 04:23 น.

เปิดเกณฑ์ชดเชยน้ำท่วมใหญ่ทุบซ้ำเศรษฐกิจไทย ครม.แพทองธารอัดฉีดงบกลาง 3,000ล้านเร่งเยียวยา 3 แสนครัวเรือนจมน้ำ เชียงราย โหดสุด เสียหาย 52,688 ครัวเรือน   บ้านเรือนเสียหาย 70% รับ 2.3แสนล้านบาท ต่อหลังคาเรือน  

 สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ทุบซ้ำเศรษฐกิจประเทศที่กำลังบอบซ้ำจากความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน

โหดร้ายสุดเชียงรายจังหวัดชายแดนเมืองท่องเที่ยว สำคัญเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปัจจุบันเสมือนเครื่องยนต์ใหญ่ทางภาคเหนือ ต้องดับวูบลงจากมหาอุทกภัยที่ไม่มีใครตั้งรับทัน

น้ำท่วมใหญ่ /นายกฯเร่งเยียวยา

 แม้วันนี้ปริมาณน้ำคลี่คลาย แต่ได้ทิ้งบาดแผลลึกจากร่องรอยความเสียหายไว้ให้ ซึ่งหลายรายต้องสิ้นเนื้อประดาตัวแบบติดลบ ไร้แม้แต่ที่จะซุกหัวนอน รายที่เข้าบ้านได้ต้องพบกับสภาพไม่ต่างจากทะเลโคลนเข้าซัดถมเข้าไปในตัวบ้านและทรัพย์สินเสียหาย

ทั้งซากปรักหักพังอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ เศษไม้ ที่พัดพามากับกระแสน้ำ ยากจะฟื้นฟูเยียวยา   โดยเฉพาะ”ด้านจิตใจ” ที่ต้องฝันร้ายไปอีกนาน ขณะถนนสะพานถูกตัดขาดต้องใช้งบประมาณฟื้นฟูซ่อมสร้างกันอีกมาก  

 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.น.อ.) ประเมินเบื้องต้น ผลกระทบภาคเหนือตอนบน เสียหาย 2.5-2.7หมื่นล้านบาทรุนแรงที่สุดในรอบ80ปี   เช่นเดียวกับนายครรชิต ชมภูแดง หน. ปภ.เชียงราย สรุปสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมดินถล่มตั้งแต่วันที่ 9 - 14 กันยายน 2567

มีผลกระทบ 9 อำเภอ 34 ตำบล 153 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) มี อ.เมืองเชียงราย, อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ, อ.แม่จัน, อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.แม่สาย, อ.ดอยหลวง, อ.เทิง, อ.เวียงแก่น ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ 2 แห่ง  ร้านค้า สถานประกอบการ 92 แห่ง ประชาชน 52,688 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 13,877 ไร่

ขณะความเสียหายเมื่อย้อนไปเดือนพฤษภาคม การจ่ายเงินช่วยเหลือ มีผู้ประสบภัยจำนวน 338,391 ครัวเรือนใน 57 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ, พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย, พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และสามารถดำรงชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แพทองธาร รับทบหนักต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงิน เยียวยา ฟื้นฟู ประเทศเป็นการด่วน พร้อมทั้งนั่งหัวโต๊ะตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) และทบทวนกรอบเยียวยาเพื่อความเหมาะสม

หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย70%ขึ้นไป รัฐบาลจะชดเชยให้2.3  แสนบาทต่อหลังคาเรือน ซึ่งใช้งบกลางปี2567ก้อนแรกกว่า3,000ล้านบาท แต่ไม่น่าเพียงพอ

นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อวันที่17 ก.ย. รับทราบความเสียหายจากผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน

โดยเป็นข้อมูลจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นที่กระทบธุรกิจ และภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ 31 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนความเสียหายบ้านเรือนของประชาชนอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะทำให้มูลค่าความเสียหายที่จะรายงานให้ ครม.ทราบในระยะต่อไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ครม.ยังรับทราบข้อมูลในการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ว่าจะมีความเสียหายมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่เป็นอยู่อาศัยของประชาชนเกิดขึ้นอย่างมาก ในส่วนนี้จะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่องซึ่งนายแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการติดตามความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

จากการเปิดเผยของ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท 

เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567   ซึ่งการจ่ายเงินจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ ครม. อนุมัติในวันนี้ด้วยเช่นกัน

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคาร จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อไป

 สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ จะต้องเป็นอุทกภัยที่เกิดในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 ทั้งกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำลันตลิ่งรวมถึงการระบายน้ำจนผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้

ที่อยู่อาศัยนั้นต้องเป็นบ้านอยู่อาศัยเป็นประจำใน อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือ พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ใน 57 จังหวัด 

 ส่วนเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และ มีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้

ผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ และ จังหวัด นอกจากนี้ หาเป็นกรณีประสบภัยหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือครั้งเดียว

 การจ่ายเงินช่วยเหลือจะแยกเป็นแต่ละกรณี ดังนี้

1)กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท

อย่างไรก็ตามการเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วน  การจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้ ผู้ประสบภัยทั้ง 338,391 ครัวเรือนใน 57 จังหวัด  ได้รับความช่วยเหลือและสามารถดำรงชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว