ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดอสังหา ริมทรัพย์ภาคเหนือแสดงสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณบวกในบางพื้นที่
แต่ความท้าทายสำคัญที่ผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยต้องเผชิญคือภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยและสภาพเศรษฐกิจที่ยังซบเซา ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
นายชินะ สุทธาธนโชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงราย และกรรมการ บริษัท พินนาเคิลเอสเตท (2019) จำกัด กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลจากสำนักงานที่ดินระบุว่า การโอนกรรมสิทธิ์อสังหา ริมทรัพย์ในพื้นที่ลดลงประมาณ 20-25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัญหาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับตํ่า ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
อีกทั้งการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเกณฑ์การกู้ที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ และยาวไปจนถึงปี 2568 คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเชียงรายจะยังคงตัวในระดับเดิม
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ คือเรื่องความเชื่อมั่น ที่ยังอยู่ในระดับตํ่ามาก ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างมีความระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย
รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้การขอสินเชื่อเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม
มากไปกว่านั้น จังหวัดเชียงรายยังต้องเผชิญกับวิกฤตนํ้าท่วมครั้งใหญ่ในช่วงนี้ ซึ่งถือเป็นนํ้าท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี โดยนํ้าท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในทุกระดับ
ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงรายย่อย รวมถึงการก่อสร้างและกิจกรรมการค้าขายในพื้นที่ คาดว่าการฟื้นฟูหลังนํ้าท่วมจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ
ทั้งนี้ อยากเสนอแนะต่อทางภาครัฐ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
ด้านนายสรนันท์ เศรษฐี นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ทเทิร์นเรียลเอสเตท จำกัด เผยว่า ในส่วนของความท้าทายที่อสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย อีกทั้งหนี้สินครัวเรือนที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในระดับสูง ทำให้การขอสินเชื่อสำหรับซื้อบ้านเป็นไปได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ ราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ากำลังซื้อของคนในพื้นที่ยังส่งผลให้ตลาดบ้านเดี่ยวใหม่ชะลอตัว ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อบ้านมือสองในทำเลใกล้เมืองที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ขึ้นในราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่
นายสรนันท์ กล่าวเสริมว่า สำหรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค แต่เชียงใหม่มีภูมิประเทศเป็นที่สูงอาจมีนํ้าท่วมขังพื้นที่ที่ตํ่ากว่าได้ในระยะสั้น สามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว นํ้าท่วมใหญ่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย
รวมถึงผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวรับมือ โดยมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับระดับนํ้าท่วมและปรับตัวด้วยการถมพื้นที่ให้สูงขึ้น และปรับปรุงระบบระบายนํ้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต
นอกจากนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯในพื้นที่คือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี
ปัญหาฝุ่นควันนี้ทำให้อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลงถึง 59.3% ในไตรมาสสองของปี 2567 โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวหรือพักอาศัยระยะยาวในเชียงใหม่
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้พยายามผลักดัน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดอย่างเต็มที่และได้สะท้อนปัญหาให้ทางรัฐ
แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่ยังคงพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เน้นการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
เช่น เพิ่มระบบฟอกอากาศและเทคโนโลยีการกรองอากาศในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความยั่งยืน
นายปรีดิกร บูรณุปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความท้าทายที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญอยู่ถ้วนหน้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง กลุ่มผู้เริ่มทำงานช่วงอายุ 20 ถึง 35 ปี พบว่ามีหนี้สินและหนี้เสียสูง ซึ่งทำให้ความต้องการบ้านลดลงและตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว
ในส่วนของปัญหาสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ เช่น นํ้าท่วมแลฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง
รวมถึงนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อาจทำให้พวกเขาเลือกลงทุนในพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งการเปิดโครงการใหม่ในอนาคตก็อาจได้รับผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพื้นที่ดังกล่าว
ดังนั้น อรสิริน ได้มีการนำเทคโนโลยีเครื่องกรองอากาศเข้ามาใช้ในที่อยู่อาศัยแนวราบ และกำลังศึกษาการนำมาใช้ในอาคารชุด โดยเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และคุ้มค่ากับการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นายปรีดิกรยัง ได้เสนอข้อแนะนำต่อรัฐบาลในการออกมาตรการเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้บริโภค อาทิ มาตรการเกี่ยวกับสินเชื่อและการเงิน
รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เช่น การสนับสนุนการสร้างบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุรักษ์โลก และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
และยังเสนอให้มีการการปรับปรุงมาตรการการลดค่าธรรมเนียมภาษีการโอน เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมได้มากขึ้น และสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
ทั้งนี้ นโยบายที่รัฐบาลประกาศในการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในและนอกระบบ ก็คาดว่าจะส่งผลดีต่อทุกภาคธุรกิจรวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน