อสังหาฯไทย เดินหน้าลดคาร์บอน รัฐ-เอกชนหนุนแนวทางพัฒนาอสังหาฯยั่งยืน

20 ก.ย. 2567 | 23:00 น.

อสังหาฯ ไทย เดินหน้าลดลดก๊าซเรือนกระจก รัฐบาล-ภาคเอกชนร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาโครงการยั่งยืน รับมือการเปลี่ยนแปลงโลก สู่เป้าหมาย Net-Zero ให้กับภายในปี 2050

ในยุคที่สิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้หลายพัฒนาโครงการได้ให้ความสำคัญ และกำลังปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างโครงการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางสาวณินทิรา อภิสิงห์ กรรมการ และเขานุการสถาบันการรเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการลดก๊าซเรือนกระจกในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ว่า

เป็นการควบคุมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการพัฒนาและดำเนินการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตลอดทั้งกระบวนตั้งแต่ก่อสร้างไปจนถึงเข้าอยู่อาศัย

การลดก๊าซเรือนกระจกในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกิจกรรมขององค์กร เช่น การใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการก่อสร้างและการดำเนินงานอาคาร การเผาไหม้เชื้อเพลิงในการผลิต หรือการปล่อยก๊าซจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กร
  • ส่วนที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า ความร้อน หรือพลังงานรูปแบบอื่นๆ ที่องค์กรต้องซื้อมาใช้ สำหรับให้แสงสว่าง ระบบทำความร้อน-เย็น ซึ่งเกิดจากการผลิตพลังงานเหล่านั้นจากแหล่งอื่น ตัวอย่างเช่น การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ
  • ส่วนที่ 3 ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขึ้น ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานทางอ้อม เช่น การขนส่ง การเดินทางของพนักงาน การกำจัดของเสีย การผลิตวัสดุก่อสร้าง  รวมถึงการปล่อยคาร์บอนจากหลังจากเข้าอยู่อาศัย บำรุงรักษา และปรับปรุงอาคารในระยะยาว

โดยส่วนที่ 3 นี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดราว 60-80% ของกระบวนการ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบส่วนที่ 1 และ 2 เป็นหลัก และส่วนที่ 3 ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่อยู่อาศัย หรือผู้ใช้อาคารเข้ามาเกี่ยวข้อง

นางสาวณินทิรา กล่าวสริมว่า รัฐบาลได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยั่งยืนผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกำหนด "Thailand Taxonomy"

ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการวัดและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการต่างๆ และช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนาโครงหารต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนโยบายนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก

นอกจาก Thailand Taxonomy จะช่วยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการพลังงานให้ตรงตามมาตรฐานสากลแล้ว

ยังมีการให้สิทธิประโยชน์และการลดภาษีแก่โครงการที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนและใช้นวัตกรรมสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว เช่น LEED และ TREES Home ซึ่งจะส่งผลดีไปยังผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ด้าน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้เผยถึงแนวทางการพัฒนาสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืนที่ได้ดำเนินการมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการบรรลุ Net-Zero ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งจาก ส่วนที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2050

โดยนางสาวปรัศนีย์ สุระเสถียร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธรรมาภิบาล และวางแผนองค์กรความยั่งยืนและการบริการความเสี่ยง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาองค์การ ESG เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน

ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญสำหรับหลายๆ ธุรกิจเริ่มต้นที่ G (Governace) คือการกำกับดูแลกิจการ ช่วงแรกที่เฟรเซอร์สเริ่มทำเมื่อ 3-4 ปีก่อนคนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ของโครงการที่ทำ แต่ปัจจุบันเทรนด์เปลี่ยนไป มีการเพิ่มมูลค่ของสินทรัพย์อย่างชัดเจน

ซึ่งอาคารที่มีการทําเรื่องความยั่งยืน ประหยัดพลังงาน มีการออกแบบที่ดีในระยะยาวก็สามารถทําให้มูลค่ามากกว่าอาคารอื่นๆ ได้ 20-30% ดึงดูดทั้งนักลงทุน และผู้อยู่อาศัย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าต้นทุนไม่ได้มีการเพิ่มขึ้น แต่มองว่าเป็นการลดต้นทุนมากกว่า เป็นการลงทุนในระยะยาวและสิ่งที่ได้รับกลับมามีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน

และยังเป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกําลังจะออกมา ซึ่งจะได้ประโยชน์เรื่องของการเสียภาษีบริษัท ลดต้นทุน และยังได้ชื่อเสียงที่ดีต่อบริษัทหากเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืน

อีกทั้งยังเป็นการบริหารความเสี่ยงในอนาคต และเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย เพราะปัจจุบันนักลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนอย่างมาก

ปรัศนีย์ สุระเสถียร

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง บริษัทต้องรู้ว่าในการดำเนินธุรกิจมีการปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ และลงไปดูในแต่ละส่วน เช่น คำนวณคาร์บอนจากน้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง และอาจใช้รถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนทดแทน

การคำนวณคาร์บอนจากไฟฟ้าที่ใช้ เฟรเซอร์ส เองก็เป็นบริษัทมีทรัพย์สินจำนวนมากและการดำเนินงานของอาคารต่างๆ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก

บริษัทได้พยายามรวบรวมบิลไฟฟ้าทั้งหมดจากโครงการและอสังหาริมทรัพย์หลายพันแห่ง เพื่อทำการคำนวณและหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการผลักดันให้ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ (solar rooftop) เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานฟอสซิล

และส่วนที่ท้าทายที่สุดคือส่วนที่ 3 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งบริษัทไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าหากให้ความสำคัญของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้น

เช่น การออกแบบอาคารให้รองรับพลังงานแสงอาทิตย์หรือมีระบบประหยัดพลังงาน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะสามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

สำหรับธุรกิจรายย่อยก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการมีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปล และค่อยๆ เริ่มลงมือทำจากภายในบริษัทเล็กๆ น้อยๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่หลายคน อาจมองเรื่อง sustainability เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่การมีแนวคิดเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคที่ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน อยากให้มองว่าเป็นการลงทุนในระยะยาวจะได้สิ่งตอบแทนกลับมาจากการลงทุนนั้น

ดังนั้นความคิดที่ว่าการลงทุนดำเนินการในเรื่องนี้แล้วจะได้คืนกลับมา จะทําให้เกิดความยั่งยืนและสามารถทำกำไรกลับคืนมาได้ด้วยเช่นกัน นางสาวปรัศนีย์ กล่าวทิ้งท้าย