ในปี 2567 ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ยังสูง การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด รวมถึงความระมัดระวังของผู้บริโภคในการสร้างหนี้ระยะยาว ส่งผลให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน
แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย ระบุว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เลื่อนการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดยุทธศาสตร์ที่ยังคงมีกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้พัฒนารายใหญ่บางราย ยังมีการเปิดตัวโครงการใหม่บ้างในบางทำเล แต่ยังคงระมัดระวังในการกำหนดราคาขาย ซึ่งหากเปิดตัวโครงการขายใหม่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาด อาจส่งผลให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเท่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา
แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย พบว่าในปี 2567 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 51 โครงการ 21,891 ยูนิต ลดลงถึง 48.5% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งมี 32,511 ยูนิต มูลค่าการลงทุนรวม 116,362 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบหลายปี มาจากปัจจัยหลักของกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ตลาดคอนโดมิเนียมยังคงถูกขับเคลื่อนโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 83% ของตลาด ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 102,526 ล้านบาท ในขณะที่ผู้พัฒนานอกตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าการลงทุนเพียง 13,836 ล้านบาท
ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกมากขึ้น หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อย่างช่วงรามคำแหง – ลำสาลี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ถนนรามอินทรา รถไฟฟ้าสายสีชมพู และช่วงลาดพร้าวและศรีนครินทร์ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ทั้งนี้ การพัฒนาคอนโดมิเนียมในพื้นที่ใจกลางเมืองยังคงต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของราคาที่ดินที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้พัฒนาเลือกพัฒนาในพื้นที่รอบๆ ใจกลางเมืองมากขึ้นในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม คอนโดมิเนียมระดับ 50,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร ยังคงเป็นเซกเมนต์ที่มีดีมานด์สูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 66% ของตลาดรวม ตามด้วยกลุ่มราคา 100,000-150,000 บาทต่อตารางเมตรที่ 19.33%
เซกเมนต์คอนโดระดับลักซูรี และแฟลกชิปโครงการในทำเลสำคัญ เช่น สุขุมวิท ยังได้รับความสนใจ โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการระดับ Super Luxury ที่มียูนิตน้อยหรือ One Floor One Unit เข้าสู่ตลาดเพื่อรองรับกำลังซื้อเฉพาะกลุ่ม
ตลาดบ้านแนวราบ โดยเฉพาะบ้านหรูระดับลักซูรี ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยังคงมีกำลังซื้อที่มั่นคง โดยเฉพาะทำเลอย่างบางนา พัฒนาการ กรุงเทพกรีผพา และเลียบทางด่วนรามอินทราได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งโครงการที่มีราคามากกว่า 100 ล้านบาทถูกเปิดขายใหม่จำนวนมาก และได้รับการตอบรับจากกำลังซื้อที่ดี ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสำหรับในปี 2568 สำหรับตลาดแนวราบยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2568 ผู้พัฒนายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ยังสูง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงในทุกเซกเมนต์ แต่ก็มีสัญญาณบวกจากนโยบายลดดอกเบี้ย และความต้องการบ้านในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
แม้ตลาดอสังหาฯ ในปีที่ผ่านมาเผชิญความยากลำบาก แต่ผู้พัฒนายังคงปรับตัวและมุ่งเน้นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ประมาณ 20,000–25,000 ยูนิต ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลของตลาด
การเน้นกลยุทธ์ราคาและรูปแบบโครงการที่โดดเด่นจะยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดกำลังซื้อ ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน รวมถึงนโยบายจากภาครัฐและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2568 อาจมีโอกาสฟื้นตัวในบางเซกเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านหรูและโครงการที่เน้นตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ ๆ เช่น บ้านประหยัดพลังงาน หรือคอนโดที่รองรับเทคโนโลยีล้ำสมัย