จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ครั้งรุนแรงโดยมีศูนยกลางจากเมียนมา และแรงสั่นทะเทือนรับรู้สึกได้ถึงประเทศไทยในหลายบริเวณโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีผลทำให้ตึกสตง. สูง30ชั้นพังถล่มและอาคารหลายแห่งแตกร้าวได้รับความเสียหาย ที่น่าจับตาตลาดคอนโดมิเนียม อาจได้รับผลกระทบต่อการตัดสินใจจากผู้ซื้ออย่างมาก
นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาคุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อพักอาศัยในอาคารสูงแน่นอน ก่อนหน้านี้ผู้ซื้ออาจจะกังวลเรื่องการก่อสร้างอาคารว่าจะสร้างได้หรือไม่สามารถก่อสร้างได้
เพราะปัญหาเรื่องของการขออนุญาตก่อสร้างและเรื่อง EIA แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ควบคุมให้การออกแบบอาคารสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ก็ตาม
แต่ภาพหรือคลิปวีดีโอของสระว่ายน้ำที่น้ำล้นออกจากอาคารรวมไปถึงการสั่นไหวที่รุนแรง ประกอบกับการแรงสั่นไหวทสูงสุดที่นำมาคำนวณยังเป็นแรงสั่นไหวสูงสุดในอดีต ไม่ใช่แรงสั่นไหวที่เกิดในปัจจุบัน
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่บางอาคารที่แม้ว่าจะออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวก็อาจจะไม่สามารถรองรับเหตุการณ์ครั้งล่าสุดได้ หรือถ้าโครงสร้างอาคารรองรับได้ แต่ความเสียหายในส่วนอื่นๆ ก็คงมีเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งที่เกิดทันทีหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว
เช่น ความเสียหายของโครงสร้าง ผนังอาคาร งานตกแต่งต่างๆ และเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ เช่น รอยร้าวของโครงสร้าง สระว่ายน้ำ หรืองานระบบภายในอาคาร ซึ่งอาจจะตรวจไม่เจอหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ผลกระทบตามมาทีหลัง
การตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมหลังจากนี้ เรื่องของแผ่นดินไหวจะกลายเป็น 1 ในปัจจัยลบที่กลายเป็นตัวแปรสำคัญแน่นอน ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการเผยแพร่เรื่องการรับรองแผ่นดินไหวทั้งในส่วนของโครงสร้างหรือเรื่องของการประกันอาคารเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย
เพราะถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหลังจากที่โอนกรรมสิทธิ์แล้วอาคารเกิดความเสียหายหลังจากที่หมดประกันไปแล้ว เจ้าของร่วมของโครงการอาจจะไม่สามารถช่วยกันรับผิดชอบการซ่อมแซมไหวได้ เรื่องประกันภัยพิบัติที่ครอบคลุมแผ่นดินไหวอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา
ทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความเสี่ยงในเรื่องของแผ่นดินไหวหมดไม่มีข้อยกเว้น อาคารเก่าๆ ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าอาคารใหม่ เพราะข้อกำหนดในเรื่องของการออกแบบยังไม่ทันสมัยหรือรองรับเหตุการณ์ปัจจุบันได้มากพอ