thansettakij
อัปเดต กรมโยธาฯ สั่งระงับใช้ 63 อาคารเสี่ยงหลังแผ่นดินไหว  

อัปเดต กรมโยธาฯ สั่งระงับใช้ 63 อาคารเสี่ยงหลังแผ่นดินไหว  

11 เม.ย. 2568 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2568 | 11:30 น.

อัปเดต กรมโยธาฯ สั่งระงับใช้ 63 อาคารเสี่ยงหลังแผ่นดินไหว ทั่วประเทศ จากอาคาร เสนอเข้ารับการตรวจสอบ  8,529 อาคาร

ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยวันที่ 11 เมษายน 2568

ผลตรวจสอบอาคาร ผลตรวจสอบอาคาร

โดยรายงานผลการดำเนินการที่ 10 เมษายน 2568 ผลการตรวจสอบอาคาร ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 10 เมษายน 2568 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 8,529 อาคาร

 พบว่าโครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก และได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 63 อาคาร ทั้งนี้ได้มีการแบ่งอาคารในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม และขอรายงานผลการดำเนินงานตามการแบ่งกลุ่มอาคาร ดังนี้

สรุปผลการตรวจสอบอาคาร สรุปผลการตรวจสอบอาคาร

อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชนดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอ

สรุป ดำเนินการตรวจสอบอาคารภาครัฐ สะสมตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม – 10 เมษายน 2568 จำนวน 234 หน่วยงานจำนวน 649 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ 

สีเขียว จำนวน 589 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้
สีเหลือง จำนวน 58 อาคาร / โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 2 อาคาร

        

อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน อาคารเหล่านี้ เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้วทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน จำนวนมากกว่า 2,600 ราย

สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
แจ้งเจ้าของอาคารให้ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ตามหนังสือสั่งการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้สั่งการใหกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น

แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป

สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัย รวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป และป้าย ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของตัวอาคารโดยด่วน และรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร) ทราบ พร้อมมาตรการควบคุมกรณีพบว่าอาคารมีความชำรุดในระดับต่าง ๆ  

เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้พักอาศัยและผู้ใช้อาคาร หากเจ้าของอาคารไม่ดำเนินการจะมีโทษตามกฎหมายซึ่งกรุงเทพมหานครได้แจ้งเจ้าของอาคารภาคเอกชนที่ต้องทำการตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว
จำนวนประมาณ 11,000 แห่ง เพื่อดำเนินการตรวจสอบอาคารและรายงานให้กรุงเทพมหานครทราบ ซึ่งมีการแจ้งว่าได้มีการตรวจสอบแล้วจำนวน 3,518 แห่ง

อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนผ่าน Traffyfondue ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 10 เมษายน 2568 ได้รับแจ้งทั้งหมด 19,168 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จ 18,306 เรื่อง

สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง      ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลางและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชน
ในพื้นที่

โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 7,880 อาคารสามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 7,445 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 374 อาคาร / โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 61 อาคาร

สรุปผลการตรวจสอบอาคารภาครัฐที่ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม – 10 เมษายน 2568 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 8,529 อาคาร

สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 8,034 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน432 อาคาร / โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 63 อาคาร

นอกจากนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองมีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือพี่น้องประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่าง ๆ และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข1531 / 02 299 4191 และ 02 299 4312

        สำหรับการสืบสวนข้อเท็จจริง สาเหตุการพังถล่มของอาคาร สตง. ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี         ว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อวันที่   30 มีนาคม 2568 ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่

        กลุ่มที่ 1 ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ 

        กลุ่มที่ 2 ผู้แทนสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

        กลุ่มที่ 3 ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        กลุ่มที่ 4 เจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง

รวมทั้งสิ้น 22 คน โดยมีวิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานกรรมการ และนายกสภาวิศวกร เป็นที่ปรึกษา และให้รายงานผลภายใน 7 วัน

        ทั้งนี้ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ได้สรุปเบื้องต้นพบว่า มีปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารพังถล่ม       อยู่หลายปัจจัย ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องตรวจสอบในทุกปัจจัยจากเอกสารจำนวนมากและเก็บข้อมูล ณ สถานที่เกิดเหตุโดยละเอียด แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้อย่างเต็มที่

เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับการกู้ชีพ       เป็นลำดับแรก และต้องนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์หาสาเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้ได้ผลสรุป      ถึงสาเหตุของการพังถล่มอย่างแท้จริง และทำให้เกิดความกระจ่างต่อสังคม โปร่งใส เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการสืบสวนออกไปอีก 90 วัน