“คำพ่อสอน” ว่าด้วยความสามัคคีและการรักษาสุขภาพกาย-ใจ

04 ธ.ค. 2563 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2563 | 07:21 น.

ในช่วงเวลาที่คนไทยกำลังเผชิญกับภัย 2 รูปแบบที่ระดมเข้ามาในเวลาเดียวกัน หนึ่ง คือการเผชิญหน้าทางสังคมและการเมือง ในรูปแบบของการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อยาวนาน และสองคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ทั้งยังเป็นโคมไฟส่องไสวให้เกิดปัญญาและมองเห็นหนทางแก้ไขปัญหา ก็คือ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย

 

เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ผู้เป็นมิ่งขวัญ จากหนังสือ คำพ่อสอน โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาสร้างเสริมกำลังใจให้แก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ดังนี้ 

“คำพ่อสอน” ว่าด้วยความสามัคคีและการรักษาสุขภาพกาย-ใจ

 

"...ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะ พอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้นผู้ที่ปรกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกาย ให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้นจะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำการงานโดยมีประสิทธิภาพได้....”

 

  • พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ 17 ธันวาคม 2523

 

“...กายที่มีสุขภาพดีก็หมายความว่ากายที่แข็งแรง ที่เดินได้ ยืนได้ นั่งได้ มีกำลัง มีทุกอย่าง รวมทั้งมีความคิดที่ดี ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดีก็มีกำลัง เป็นกำลังที่จะแผ่ความเมตตาให้แก่คนอื่น มีกำลังที่จะคิดในสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองแก่ตัวและความเจริญรุ่งเรืองในสังคม....”

 

  • พระราชดำรัส ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่าง ๆ เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2520

“คำพ่อสอน” ว่าด้วยความสามัคคีและการรักษาสุขภาพกาย-ใจ

“...การกีฬานั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้ว ร่าเริง รู้จักแพ้ และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่ามี น้ำใจเป็นนักกีฬา...”

 

  •  พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ของกระทรวงศึกษาธิการ วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2498

 

“...ความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันและกันได้ทุกกรณี โดยเฉพาะความสงบหนักแน่นในจิตใจนั้น ทำให้เกิดความยั้งคิดพิจารณาตามเหตุตามผล จึงช่วยให้สามารถขบคิดวินิจฉัยเรื่องราว ปัญหาและกระทำได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี มีประสิทธิผล...”

 

  • พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดีที่ 2กรกฎาคม 2535

 

“...ในภาษาทุกภาษาก็ต้องมีคำว่า เมตตา คือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มองคนอื่นในทางที่จะช่วยเหลือเขามากกว่าที่จะไปแย่งชิงเขา ทุกภาษาทุกศาสนาก็มีจิตใจนี้ หรือวิธีการนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายทำต่อไปด้วยความแน่วแน่ และด้วยความสุจริตใจ จะเป็นทางที่จะช่วยส่วนรวมให้อยู่เย็นเป็นสุข...”

 

  • พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2518

“คำพ่อสอน” ว่าด้วยความสามัคคีและการรักษาสุขภาพกาย-ใจ

“...ความสงบร่มเย็น อาจพูดได้ว่ามีเป็นสองส่วน คือความสงบภายนอกกับความสงบภายใน ภายนอกได้แก่สภาวะแวดล้อมหรือสภาวะความเป็นอยู่ที่เป็นปรกติ ปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนที่ทำให้เกิดภัยอันตราย หรือเกิดความกระวนกระวายเดือดร้อนต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือความขัดแย้งวุ่นวาย ความมุ่งร้ายทำลายกัน ภายในได้แก่จิตใจที่สะอาดแจ่มใส อิ่มเอมสบายไม่มีกังวล ไม่มีความขุ่นเคืองขัดข้องใจ ความสงบภายในหรือจิตใจที่ปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนนี้สำคัญมาก ควรจะทำให้มีขึ้น เพราะผู้ที่มีจิตใจสงบ จะใช้ความคิดพิจารณาของตนได้อย่างกว้างขวางและถูกต้องดีขึ้น ความคิดที่ประกอบด้วยความสงบนี้มีศักยภาพสูง อาจนำไปใช้คิดอ่านสร้างสรรค์สิ่งที่อำนวยความสุข ความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนปรารถนา ให้สัมฤทธิ์ผลได้...”

 

  • พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2530 วันพุธที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2529

 

“...วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ทุก ๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยความสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบา และกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้...”

 

  • พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2528 วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2527

“คำพ่อสอน” ว่าด้วยความสามัคคีและการรักษาสุขภาพกาย-ใจ

ที่มา หนังสือคำพ่อสอน โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

เครดิตภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)