13 ตุลาคม 2564 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 9 หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จัดกิจกรรมน้อมรำลึกทั่วประเทศไทย
ตั้งแต่ทรงครองราชย์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสกับปวงชนชาวไทย ในการให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม และทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกๆ ด้าน
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ฐานเศรษฐกิจ ขอนำพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระองค์มานำเสนอ
1.การปกครองแผ่นดิน
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
พระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493
2.การทำความดี
การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี
พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525
3.ความเจริญในการทำงาน
"ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสําคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับใช้กระทําการทํางาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบ คือ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม"
พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลาม 4 จังหวัดภาคใต้จังหวัดปัตตานี 28 สิงหาคม 2519
4.การเป็นคนดี
"ในบ้านเมืองนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดีไม่มีใครที่จะทําให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทําให้ บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทําให้ทุกคนเป็นคนดีหากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอํานาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"
พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมชนลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธจังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512
5.ความสามัคคี
สามัคคีนี้ก็คือ การเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทํางานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทําลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทํางานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม
พระราชดํารัสที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตํารวจชั้นนายพล 15 มกราคม 2519
6.การศึกษา
"การที่บุคคลจะพัฒนาได้ก็ด้วยปัจจัยประการเดียวคือการศึกษา การศึกษานั้นแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษาด้านวิชาการส่วนหนึ่ง กับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ดีใฝ่เจริญ มีปรกติละอายชั่วกลัวบาป ส่วนหนึ่ง การพัฒนาบุคคลจะต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทั้งสองส่วน เพื่อให้บุคคลได้มีความรู้ไว้ใช้ประกอบการ และมีความดีไว้เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติทุกอย่าง ให้เป็นไปในทางที่ถูก ที่ควร และอำนวยผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์"
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 24 มกราคม 2540
7.การกีฬา
"การกีฬานั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแรง ให้มีความสามารถในกีฬาของตน เพื่อพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันและได้ชัยชนะมา ถึงเวลาเข้าแข่งขันก็จะต้องตั้งสติให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติได้เต็มที่ตามที่ได้ฝึกฝนมา"
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 5 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2512
8.เศรษฐกิจพอเพียง
"เศรษฐกิจพอเพียง จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้"
พระราชดำรัส พระราชทาน ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2541
9.การอดออม
"การประหยัดอดออม เป็นรากฐานในการสร้างตัว สร้างฐานะของบุคคล ตลอดจนความเจริญมั่นคงของสังคม และชาติบ้านเมือง"
พระราชดำรัส ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลศิริราช วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2559
10.การพูดจริง ทำจริง
"ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม"
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540
11.การปิดทองหลังพระ
"การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนักเพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506
12.การรู้จักประมาณตน
"การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น"
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 กรกฎาคม 2541