พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (สนามม้านางเลิ้งเดิม)ในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 เวลา 16.00น.
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในอดีตคือสนามม้านางเลิ้ง โดยทางสำนักพระราชวัง ได้เผยแบบจำลอง อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 หรือสนามม้านางเลิ้งเดิม ในพื้นที่ 297 ไร่
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องป่าและน้ำ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ
จุดสำคัญคือ พระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่9 มีสัดส่วนสูง 5.19 เมตร มีขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ มีความสูง 18.7 เมตร จากระดับถนนครีอยุธยา ตั้งอยู่ในลานรูปไข่ มีพื้นที่2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน โดยแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สระน้ำเลข ๙ สะพานเลข ๙ สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบากง ในแนวคิด “น้ำคือชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่นที” และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการฟื้นฟูป่า รักษาแหล่งน้ำ เกษตรทฤษฏีใหม่ บ่อปลานิล กังหันน้ำชัยพัฒนา ฝายชะลอน้ำ พลังงานทดแทนจาก Floating Solar Cell
อีกทั้งยังจะเป็นพื้นที่ “แก้มลิง” แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยเชื่อมคลองผดุงกรุงเกษม กับ คลองเปรมประชากร คลองสามเสน อีกด้วย
สวนสาธารณะ ปอดแห่งใหม่แห่งนี้ จะเป็นสวนป่ากลางเมือง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยจะมีต้นไม้ใหญ่ 4,500 ต้น ตกแต่งด้วยพืชนานาชนิด เช่น ต้นไม้ประจำจังหวัด ต้นไม้หายาก ต้นไม้โตเร็ว ให้คล้ายคลึงป่าธรรมชาติ และยังมีการปลูกพืชกรองฝุ่น และปลูกพืชบำบัดน้ำอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี สนามเด็กเล่น ลานกีฬากลางแจ้ง ลานริมน้ำ ท่าเรือ ทางปั่นจักรยาน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้องน้ำ ที่จอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับคนพิการ โดยอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้จะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการภายในปี 2567