สํานักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดสัมมนา “เศรษฐกิจไทยในยุค Disruptive Technology : พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส” ภายใต้โครงการวิเคราะห์วิจัยผลกระทบการเตรียมความพร้อมรับมือ
นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “เศรษฐกิจไทยในยุค Disruptive Technology : พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส” ภายใต้โครงการวิเคราะห์วิจัยผลกระทบการเตรียมความพร้อม โดยระบุว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งเซ็นเซอร์ การจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) และเครื่องพิมพ์สามมิติ มีการเกิดขึ้นและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Technology Disruption) สร้างความกังวลต่อผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยพัฒนาการที่เกิดขึ้นยังจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานของแรงงาน โดยงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ (Automation) และระบบอัจฉริยะที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง (Self-Driving Car) ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการประมาณการว่าจะมีผู้เสี่ยงต่อการตกงานถึงกว่าร้อยละ 50 ของแรงงานทั้งหมด ทั้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น สดช.ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายมีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับยุคแห่งเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันได้ จึงได้จัดประชุมสัมมนา“เศรษฐกิจไทยในยุค Disruptive Technology : พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส” ขึ้น เพื่อจัดทํามาตรการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเตรียมความพร้อมรับมือในยุคแห่ง Disruptive Technology และนําไปปฏิบัติได้ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมทั้งเผยแพร่ความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม
“วัตถุประสงค์หลักๆของการสัมมนา ก็คือ ๑.เพื่อศึกษาพัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruptive Technology) และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย ใน ๗ กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมสื่อ ภาคบริการขนส่งผู้โดยสารทางบก บริการโรงแรม และ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ๒.เพื่อให้ประเทศไทยมีโมเดลการพัฒนาสําหรับรองรับการเกิดขึ้นของ Disruptive Technology และ ๓.เพื่อให้ภาครัฐมีแนวทางในการปรับกลไกการทํางานและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจาก Disruptive Technology โดยมีการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบและการแตรียมความพร้อมรับมือในด้านต่างๆ ใน ๗ กลุ่มอุตสาหกรรมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยคาดว่าหลังการสัมมนาจะเกิดการตระหนักรู้และเข้าใจความสําคัญของผลกระทบของ Disruptive Technology ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางรับมือกับผลกระทบของ Disruptive Technology ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ”นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม กล่าว
สำหรับการประชุมสัมมนา“เศรษฐกิจไทยในยุค Disruptive Technology : พลิกความปั่นป่วนเป็นโอกาส”ภายใต้โครงการวิเคราะห์วิจัยผลกระทบการเตรียมความพร้อม รับมือ Disruptive Technology จัดขึ้น ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดา มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน อาทิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด สหกรณ์ท็กซี่สยาม และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมสัมมนา จำนวนประมาณ 500 คน