วัคซีน โควิด-19 จะเป็นวัคซีนที่ใช้เวลาการพัฒนาเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

05 ก.ค. 2563 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2563 | 08:25 น.

ไทยประกาศข่าวดีเรื่องการพัฒนา วัคซีน โควิด-19 ว่าผลทดสอบปลอดภัยในลิง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลระบุว่า เป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จ

ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลของไทยระบุว่า วัคซีน โควิด-19 ถือเป็นประวัติศาสตร์การพัฒนาวัคซีนที่รวดเร็วที่สุด

ผศ. ดร. รจนภร พูลมานะอุสาหะกุล ระบุว่า วัคซีนโดยทั่วไปแล้ว ใช้เวลาพัฒนายาวนานมาก ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้เลือดออก ที่พึ่งได้รับการรับรองไปเมื่อไม่นานมานี้ เป็นตัวเดียวของซาโนฟี่ที่ไม่ใช่วัคซีนที่ดี แต่ดีที่สุดในตอนนี้ ใช้เวลาพัฒนาถึง 30 ปี แต่วัคซีนป้องกันโควิดที่เราทดลองกันตอนนี้ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปี ก็จะนำมาทดลองในคนแล้ว

ผศ. ดร. รจนภร พูลมานะอุสาหะกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล การดัดแปลงพันธุกรรมและการออกแบบลักษณะของไวรัส และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส

วัคซีนในปัจจุบันมักใช้เพื่อป้องกันมากกว่าการรักษา ถ้าให้แบ่งประเภทใหญ่ๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้ คือ Preventive Vaccine เป็นวัคซีนเพื่อการป้องกัน และ Therapeutic Vaccine เป็นวัคซีนเพื่อการรักษา

  • วัคซีนเพื่อการป้องกัน เช่น ทุกๆ ปีเราต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือที่เด็กๆ ฉีดวัคซีนโปลิโอ วัคซีนรวมหัดคางทูม MMR (Measles – Mumps-RubellaVaccine) 3 โรคใน 1 เข็ม
  • วัคซีนรักษา อย่างเช่น พิษสุนัขบ้า ซึ่งจริงๆ สามารถใช้ทั้งป้องกันและการรักษา แต่หลักๆ แล้วใช้วัคซีนเหล่านี้เพื่อการป้องกันโรคมากกว่า

วัคซีนโควิด-19 ถือเป็นประวัติศาสตร์การพัฒนาวัคซีนที่รวดเร็วที่สุด

ผศ. ดร. รจนภร กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน สามารถดีไซน์ได้ว่าอยากได้วัคซีนหน้าตาแบบไหน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบไหน การแพทย์ปัจจุบันมีความเข้าใจในตัวเชื้อและในภูมิคุ้มกันมากกว่าแต่ก่อนมาก และต้องยอมรับว่า เรื่องโควิด ทางเมืองจีนปล่อย sequence ออกมาได้เร็วมากๆ sequence ในที่นี้ก็คือ รหัสพันธุกรรมของตัวเชื้อ ซึ่งถูกปล่อยออกมาช่วง กุมภาพันธ์ เมื่อทั่วโลกรู้รหัสพันธุกรรมจึงสามารถดีไซน์วัคซีนออกมาได้อย่างรวดเร็ว

กระบวนการปกติ คือ เราดีไซน์วัคซีน แล้วทดสอบในห้องแล็บว่าสามารถที่จะสร้างมันขึ้นมาได้หรือไม่ ตามแนวคิดหรือไม่ เมื่อสร้างได้แล้วการทดสอบในหลอดทดลอง ในจานเพาะเชื้อ ในเซลล์ว่าได้ผลหรือไม่ ผลิตออกมาได้หรือไม่ ผลิตออกมาแล้วได้ปริมานที่น่าพอใจหรือเปล่า และเป็นพิษต่อเซลล์หรือไม่

กระบวนการถัดไป คือการทดลองกับสัตว์ทดลอง สาเหตุที่ใช้เวลานาน เพราะว่าไม่สามารถเร่งปฏิกิริยาของธรรมชาติได้ เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ต้องรอให้ร่างกายของสัตว์ทดลองสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งปกติ จะรอประมาณ 14 วัน ถึง 1 เดือน แล้วต้องดูว่าสัตว์ทดลองปลอดภัยจริงๆ ถึงจะไปทดสอบในคนได้

การทดสอบในคนเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด (Clinical Trial) แบ่งเป็นเฟสต่างๆ อย่างแรกคือ ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งจะทดสอบในกลุ่มเล็กๆ ก่อน เสร็จแล้วถึงจะดูว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มันจะมีสเต็ปอื่นๆ อีกมากมายทำให้วัคซีนต้องใช้เวลาที่นานเพื่อให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่สุด

วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่พัฒนารวดเร็วมาก เพราะว่าได้ทางลัดในหลายๆ ขั้นตอน อย่างตัว Clinical Trial วัคซีนที่ลงในคน ในวัคซีนหลายตัวลงพร้อมๆ กับสัตว์เลย เพื่อเร่งความเร็ว เร่งกระบวนการทั้งหลาย

วัคซีน โควิด-19

ผศ. ดร. รจนภร กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ว่าวัคซีนทุกตัวจะประสบผลสำเร็จ สมมุติว่าเริ่มจากในหลอดทดลอง 100 ตัว อาจจะไปสู่คนแค่ 2 ตัว ต้องให้ได้ผลที่ดีในหลอดทดลองจึงจะไปที่หนู ได้ผลในหนูที่ดีจึงจะไปที่สัตว์ที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ ลิง พอได้ผลในลิงที่ดี จึงจะไปที่คน แต่บางครั้งผลที่ดีในหนูก็อาจไม่ดีในลิง ก็เลยมีการลัดขั้นตอนบ้างว่า พอสร้างวัคซีนเสร็จแทนที่จะลองในหนูก็ข้ามไปลองในลิงเลย อย่างคราวโควิดนี้ที่รวดเร็ว เพราะทุกคนไม่ได้คิดว่าจะเป็นการเสี่ยง ลงทันทีไม่ว่าผลจะเป็นยังไงก็จะลองทดสอบลงในลิงเลย ไม่ว่าผลจะดีหรือไม่ดีก็จะเสี่ยง ซึ่งมีแพลตฟอร์มลงเยอะมาก ต้องยอมรับว่ากำลังมีการพัฒนาจากหลายสถาบันมากมายจริงๆ ทั่วโลกพยายามลองทุกแบบเพื่อให้ได้วัคซีนที่ดีที่สุด ออกมาให้ทันใช้ วัคซีนเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก มันคือการที่ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยหลักการ ควรจะออกมาดี ตอนทดสอบกับคนกลุ่มเล็กๆ มันก็ได้ผลดี แต่พอไปทดสอบในกลุ่มคนที่เยอะขึ้นบางทีก็มีข้อเสียเกิดขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เป็นความปลอดภัยที่ไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีปัญหาบ้าง

สถานการณ์วัคซีนทั่วโลกเป็นอย่างไร

ล่าสุดที่ตามดู ตัวที่ทดสอบในคนมี 13 ตัว ถือว่าค่อนข้างเยอะ สำหรับระยะเวลาที่นับจากเริ่มมีการระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว ไม่ถึงปี มีการทดสอบในคนแล้ว 13 ตัวเลือก มีหลายแพลตฟอร์ม ทั้งวัคซีน mRNA มีวัคซีนเชื้อตาย มีวัคซีนที่มีโปรตีน และอีกหลายแพลตฟอร์ม ก็หวังว่าจะมีสักตัวที่น่าจะได้ผล ของประเทศไทยเราเริ่มต้นช้ากว่าที่อื่น จึงยังไม่ถึงการทดสอบในคนก็จริง แต่ก็ยังมีอยู่เยอะมาก

ผศ. ดร. รจนภร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าโชคดีจริงๆ ปลายปีนี้ น่าจะได้ข่าวดีกลับมาจากทางฝั่งจีน หรือฝั่งอเมริกาที่ไปไกลที่สุด ทางอเมริกาเป็นวัคซีน mRNA ส่วนทางฝั่งจีนจะเป็นไวรัสทั้งตัวเชื้อตาย ฝั่งอังกฤษเป็นไวรัสลูกผสมที่สร้างขึ้นมาอันนี้จะเทคโนโลยีซับซ้อน ทั้ง 3 ตัวค่อนข้างพัฒนาไปไกลที่สุดแล้ว อยู่ที่เฟส 2 ส่วนของไทยเราที่พึ่งประกาศมาเป็นวัคซีน mRNA แต่รหัสพันธุกรรมจะแตกต่างกับฝั่งอเมริกา ใช้ตัวพันธุกรรมของไวรัสฉีดเข้าไปในคน ต้องรอดูว่า เมื่อทดสอบในคนแล้วจะเป็นอย่างไร ณ ตอนนี้ สำคัญกว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันก็คือ เรื่องความปลอดภัย สัญญาณว่าปลอดภัยในลิง จึงถือเป็นสัญญานที่ดีมาก

ปัญหาที่จะพบเจอต่อจากนี้คืออะไร

ปัญหาคือ ในลิงอาจได้ผลที่ดี แต่ในคนอาจไม่ดีเหมือนในลิงก็ได้ กับอีกหนึ่งอย่างคือ เรื่องของการผลิต หลายคนบอกว่าต่างประเทศทำแล้ว ไทยจะผลิตอีกทำไม จริงๆ ไม่อาจรู้ได้เลยว่า ต่างประเทศจะสามารถผลิตได้จำนวนที่เพียงพอที่จะเผื่อแผ่มาถึงประเทศไทยหรือเปล่า ดังนั้น การที่ไทยมีศักยภาพที่จะผลิตเองจึงเป็นข้อดี หากต่างประเทศไม่มีให้ไทย ไทยก็สามารถทำเองได้ มีเพียงพอสำหรับคนในประเทศ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องมาดูต่อไปว่า ไทยจะสามารถผลิตได้พอสำหรับคนในประเทศหรือไม่ เพราะวัคซีนบางตัวไม่ได้ฉีดเพียงเข็มเดียว อย่าง mRNA ที่ต้องฉีดหลายเข็ม ถ้าจะให้คนทั้งประเทศ 60 ล้านคน ฉีดคนละ 3 โดส เท่ากับ 180 ล้าน จะผลิตทันหรือไม่ พอหรือไม่ นี่อาจจะกลายเป็นปัญหาคอขวด

อีกหนึ่งปัญหาคือ เมื่อมีวัคซีนออกมา ก็ต้องหวังว่าคนจะฉีดกัน คือ นักไวรัสจะบ่นกันว่า ก่อนหน้านี้มีวัคซีนหลายๆ ตัวที่คนไม่ยอมฉีด ด้วยความเชื่อต่างๆ ทำให้ไม่ยอมฉีด ไม่ได้เป็นแค่ในประเทศไทย ต่างประเทศก็มีเช่นกัน อาจจะถึงขั้นรุนแรงกว่าไทยด้วยซ้ำ อย่างไรก็อยากฝาก หากพัฒนาวัคซีนสำเร็จออกมาจริงๆ มาฉีดเพื่อป้องกัน แล้วสถาณการณ์ต่างๆ ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น คลี่คลายได้ดีขึ้น