เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ BCGModel เป็นวาระแห่งชาติ ทุกภาคส่วนเริ่มขยับและให้ความสำคัญกับแนวทางลดการใช้พลาสติกรวมทั้งเพิ่มการนำพลาสติกหลังการใช้งาน โดยเฉพาะขวดพลาสติก PET กลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
สำหรับประเทศไทย การใช้พลาสติกรีไซเคิล (rPET: Recycled polyethylene terephthalate) มาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม เป็นเรื่องใหม่ที่มีความท้าทายทั้งการดำเนินงานของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน เพราะกฎหมายของประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจาก
พลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ดังนั้น การเปิดประตูนำทางเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงต้องแก้ไขประกาศดังกล่าวเพื่ออนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้ rPET มาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่มได้
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นกลุ่มที่มีการใช้พลาสติกชนิด PET มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้ PET ทั้งหมด ปัจจุบันการผลิตขวดหรือบรรจุภัณฑ์ชนิด PET ต้องใช้เม็ดพลาสติกใหม่เท่านั้นซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นการดีหากรัฐบาลจะเร่งให้เกิดการผลักดันการนำPET มารีไซเคิลเป็น rPET ที่มีคุณภาพมาตรฐานแล้วนำกลับมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มได้ ช่วยลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ และลดขยะพลาสติกอย่างเห็นผล รวมทั้งเป็นการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งในหลายประเทศชั้นนำของโลกมีการนำ rPET มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับกับอาหารและเครื่องดื่มได้สำเร็จโดยมีเกณฑ์ความปลอดภัยการใช้ rPET ตามมาตรฐานสากล เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมรนิกา (USFDA) และหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA)
ความท้าทายภาครัฐ
หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการปรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
โดยในช่วงต้นปี 2562 ได้แต่งตั้งคณะทำงานและคณะอนุกรรมการด้านวิชาการพิจารณาทบทวนข้อกำหนดที่ห้ามใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) เพื่อให้ครอบคลุมถึงการใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลเพื่อการบรรจุอาหาร
มีหลายคำถามที่เป็นความท้าทายการทำงานของภาครัฐ เช่น ทำไมไทยจึงไม่เลือกใช้เกณฑ์มาตรฐานสากลที่มีอยู่แล้วและหลายประเทศชั้นนำได้นำไปใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป ทำไมไทยต้องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของตัวเองซึ่งใช้เวลายาวนานในการดำเนินงาน ทำไมเกณฑ์มาตรฐานที่คาดว่าจะใช้นั้นจึงมีความเข้มงวดมากกว่ามาตรฐานสากล สร้างต้นทุนเพิ่มให้ผู้ประกอบการ ไม่จูงใจให้อุตสาหกรรมหันมาใช้ rPET ตามเป้าหมายซึ่งอาจไม่สนับสนุนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 ที่ต้องการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้มุ่งเน้น “Reduce-Reuse-Recycle” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.อำพร เสน่ห์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิชาการที่ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้านวิชาการพิจารณาทบทวนข้อกำหนดฯ ให้ข้อมูลว่า อย.ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ rPET ทาง อย. จึงได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อร่วมกันดำเนินงานแผนการวิจัย “การพัฒนาวิธีทดสอบและประเมินความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารเพื่อกำหนดมาตรฐานของประเทศไทย”
สำหรับปีแรกของการดำเนินงานมีเป้าหมาย คือ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาวิธีวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อติดตามการตกค้างและไมเกรชันของสารปนเปื้อนตัวแทน (surrogate contaminants) เพื่อรองรับการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกชนิด PET ส่วนทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการสำรวจปริมาณการบริโภคอาหาร/เครื่องดื่มที่มีแนวโน้มบรรจุในภาชนะบรรจุ rPETเพื่อประกอบการกำหนดเกณฑ์ของปริมาณสารตกค้างของสารปนเปื้อนตัวแทนที่ยอมให้มีได้และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของไทย ผลการศึกษาจากทั้งสองทีมนักวิจัยนี้ จะช่วยให้ อย. มีแนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ภาชนะที่ผลิตจาก rPET ในการบรรจุอาหารรวมถึงเครื่องดื่มโดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังสร้างผลพลอยได้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย คือ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานของ rPET และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์จาก rPET ไปพร้อมๆ กัน
ขณะนี้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนยังขาดห้องปฏิบัติการหรือหน่วยรับบริการทดสอบประสิทธิภาพการรีไซเคิลพลาสติกและวัสดุสัมผัสอาหารจากพลาสติกรีไซเคิล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการตรวจวิเคราะห์/ประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของพลาสติกรีไซเคิลเพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้ง อย. ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในการเลือกใช้พลาสติกรีไซเคิล เช่น ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะมั่นใจได้ว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่เลือกใช้นั้นมีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานเมื่อสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค
“การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพด้านความปลอดภัยของrPET ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย อาจแตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เนื่องจากในประเทศเรามีการใช้งานพลาสติกบรรจุอาหารในรูปแบบที่ต่างกัน รวมถึงชนิดและปริมาณอาหารที่ผู้บริโภคได้รับจากการบรรจุในภาชนะที่ทำจากพลาสติกเทียบกับวัสดุประเภทอื่นๆ ก็แตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เราจึงต้องศึกษาจากบริบทของไทยและสร้างเกณฑ์ที่มีมาตรฐานและเหมาะสมขึ้นมา หากเรามั่นใจในทุกส่วนของซัพพลายเชนของ rPET ว่ามีมาตรฐานแล้ว เราต้องมีวิธีการวิเคราะห์ติดตามคุณภาพและความปลอดภัยด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานและช่วยกันขับเคลื่อนการใช้ rPET ให้กับประเทศไทย” รศ.ดร.อำพร กล่าว
ความท้าทายของอุตสาหกรรม
สำหรับประเทศไทย นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ผู้เป็นตัวแทนสมาคมฯ ในการทำงานกับภาครัฐเรื่องนี้ ได้ระบุว่า หากจะถามว่าอุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มมีความจำเป็นหรือไม่ในขณะนี้ที่ต้องใช้ rPET เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารและเครื่องดื่มโดยตรง คำตอบก็คือ ยังไม่จำเป็น และเท่าที่ได้ทำงานร่วมกัน ก็มีแค่บางบริษัทที่สนใจจะนำมาใช้ เนื่องจากเป็นนโยบายของบริษัทแม่ในต่างประเทศ ที่ต้องการลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ และส่งเสริมให้มีการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ในแบบ bottle-to-bottle recycling
ฉะนั้น แม้จะมีการปลดล็อคกฎหมายแล้ว จากการประมาณการของสมาคมฯ เอง ไม่คิดว่าจะเกิดการนำ rPET มาใช้ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยข้อจำกัดอีกอันหนึ่งที่สำคัญคือราคา rPET ซึ่งปัจจุบันยังสูงกว่าพลาสติกใหม่ในระดับมากกว่า 10% ขึ้นไป ซ้ำไม่มีใครแน่ใจว่าจะมีผู้ผลิตและซัพพลายมากน้อยขนาดไหน เพราะประเทศไทยห้ามใช้มานานมาก ทำให้ยังไม่มีใครสามารถวางแผนธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ ได้ แต่ในอนาคต เชื่อว่าประเด็นนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัญหาขยะพลาสติกเป็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกหันมาสนใจและร่วมกันหาทางแก้ไข
ในอนาคต เราอาจเริ่มเห็น rPET Content จะถูกนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งของข้อตกลงทางการค้า หรือการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าได้ เพราะขณะนี้หลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร เริ่มกำหนดสัดส่วนของ rPET content ในบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารนำเข้าเพราะถือว่าเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่จะกลายเป็นขยะพลาสติกภายในประเทศต่อไปในอนาคตหากผู้ประกอบการไทยมีเป้าหมายตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องปรับตัวและเริ่มต้นการใช้ rPETสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางกฎหมายที่หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเอื้อให้มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติของกลุ่มอุตสาหกรรม