ทำความรู้จัก “3P กลุ่ม ปตท.” กลยุทธ์เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

14 พ.ย. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2565 | 16:25 น.

กลุ่ม ปตท. พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero ได้ไวกว่าเดิม ด้วย “กลยุทธ์ 3P” กลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

“ภาวะโลกร้อน” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เกิดเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนมาจากการกระทำของมนุษย์จากทุกภาคส่วนในการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

 

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการลดอุณหภูมิโลก การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เวที “COP 26” ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อ 13 พ.ย. 2564 มีประเทศภาคสมาชิกจำนวน 197 ประเทศ มีมติเห็นชอบในข้อตกลง Glasgrow Climate change Pact เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส

 

ซึ่งในเวที COP 26 ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

 

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานของประเทศ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้ไวยิ่งขึ้น ด้วยการวางผนกลยุทธ์การดำเนินงาน สนับสนุนเป้าหมายระดับชาติ โดยจัดตั้งคณะการทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-Net) เพื่อช่วยผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มปตท. และสนับสนุนประเทศ

กลุ่ม ปตท.  ประกาศเจตนารมณ์ โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15  ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ ผ่านการดำเนินการธุรกิจ 3 แนวทางหลัก ดังนี้

 

  1. Pursuit of Lower Emissions
    เชื่อมโยงเป้าหมาย Clean growth กลุ่ม ปตท. จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. ลง 15% ภายใน 10 ปี  โดยมีโครงการที่สำคัญ ดังนี้ 
  • ปตท.สผ. นำร่องที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน หรือ CCS 
  • ซึ่งอ่าวไทยมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 40 ล้านตันต่อปี
  • ใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนที่เก็บไว้มา ใช้ประโยชน์ หรือ CCU
  • รวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  • ใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงควบคู่การใช้ก๊าซธรรมชาติ 
  1. Portfolio Transformation
    เพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และบริหารจัดการ Hydrocarbon Portfolio กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ภายในปี 2030 โดยมีงบลงทุนประมาณ 32% ของงบลงทุนทั้งหมด ปัจจุบัน ปตท. ได้ยุติการลงทุนพลังงานถ่านหินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนการลงทุนในเชื้อเพลิงเดิมจะไม่มีการขยายเพิ่ม แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น

  2. Partnership with Nature and Society
    เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกป่า โดยมีแผนจะปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4 ล้านตันต่อปี โดย ปตท. ปลูกเพิ่ม 1,000,000 ไร่ และบริษัทในเครือ ปตท. ร่วมปลูกอีก 1,000,000 ไร่ โดยการดำเนินการของกลุ่ม ปตท. ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน ได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี 

 

จากการดำเนินงานของ ปตท. สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนในประเทศไทยล้วนเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทย หากร่วมมือกันเปลี่ยนวิธีคิด ประเทศไทยก็จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ไวยิ่งขึ้น