ผลการสรุปข่าวปลอมประจำสัปดาห์จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เผย ประชาชนให้ความสนใจเรื่องเพจปลอมที่ใช้ชื่อว่า “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ที่ประกาศเปิดรับสมัครพนักงาน แพ็กของรายได้เฉลี่ย 450 บาท/ต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นข่าวปลอมเรื่อง “สินเชื่ออเนกประสงค์กรุงไทย 5 พลัส วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาท ผ่านเพจ Loan Versatile 5 Plus” ที่ยังระบาดหนัก
ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 12 – 18 มกราคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,194,201 ข้อความ มีที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 140 ข้อความ
โดยช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 113 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 27 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบอีก 97 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 59 เรื่อง
ทั้งนี้ นายเวทางค์ กล่าวเสริมว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และ กลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ
4 กลุ่ม “ข่าวปลอม” ที่ได้รับความสนใจ 4 ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 53 เรื่อง อาทิ กรมการจัดหางาน แนะนำงานสร้ายรายได้ 890-2,800 บาท รับและส่งชิ้นงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 19 เรื่อง อาทิ ผิวไม่ใส เพราะหายใจไม่สุด มีเสมหะพิษ ที่ขับออกไม่หมด สะสมที่ปอด
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 4 เรื่อง อาทิ วันที่ 17-19 ม.ค.นี้ หลายพื้นที่ตั้งแต่ ภาคเหนือ มาถึงภาคกลาง อุณหภูมิ จะลดลงอีกโดย กทม.อุณหภูมิต่ำสุด 20 องศา
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 21 เรื่อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ลงทุน Gold Trading การลงทุนหุ้นเริ่มต้น 50$ (1,750 บาท) กองทุนปันผลเริ่มต้น 500$ (17,490 บาท) กำไรสูงสุด 20% โดยแบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 18 เรื่อง
10 อันดับ ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด
ทาง กระทรวงดีอี จึงได้ออกมาเตือนให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทัน "ข่าวปลอม" ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงให้เช็กข้อมูลทุกด้านให้ดีก่อนหลงเชื่อหรือแชร์ข้อมูลต่อ เพื่อไม่เป็นการส่งต่อข้อมูลที่ผิด จนส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว
ทั้งนี้ สามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ Line @antifakenewscenter เว็บไซต์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ทวิตเตอร์(X) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย @AFNCThailand และสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง