นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2567 ณ ห้องฟีนิกซ์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดนนทบุรี วัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย หรือ Zero Tolerance รณรงค์เผยแพร่การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้แก่ประชาชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อผนึกกำลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากล
การจัดงานรณรงค์ฯ ในวันนี้ ได้กำหนดหัวข้อหลักภายใต้แนวคิด Together We Can “Stop Cyber - Trafficking” เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าการค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์เป็นภัยใกล้ตัว ทุกคนมีโอกาสถูกขบวนการค้ามนุษย์ล่อลวงผ่านออนไลน์ และอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทุกภาคส่วนจึงต้องผนึกกำลังต่อต้านการค้ามนุษย์ ให้หมดสิ้นไป
กิจกรรมสำคัญภายในงานประกอบด้วย การมอบรางวัลให้แก่บุคคลต้นแบบ บุคคลดีเด่น หน่วยงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ประจำปี ๒๕๖๗ เพื่อชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับบุคคล หน่วยงาน และจังหวัดที่ดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยผู้เข้ารับรางวัลจะได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 4 ประเภท รวมทั้งสิ้น 29 รางวัล แบ่งเป็น 1.บุคคลต้นแบบ จำนวน 3 รางวัล 2.บุคคลดีเด่น จำนวน 15 รางวัล 3.หน่วยงานดีเด่น จำนวน 6 รางวัล และ 4.จังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ จำนวน 5 รางวัล
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการผลงานของผู้รับรางวัลและจังหวัดต้นแบบ ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย บูธนิทรรศการของหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากฝีมือของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อสังคมไทยและเวทีระหว่างประเทศ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ทุกหน่วยงานสานต่อการดำเนินงานในทุกมิติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์ ทั้งด้านการดำเนินคดี การป้องกัน การคุ้มครอง การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ รวมทั้งให้ผู้เสียหายและผู้รอดพ้นมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังต้องเร่งสร้างมุมมองให้สังคมไทยตระหนักว่าการค้ามนุษย์เป็นภัยใกล้ตัว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีบทลงโทษที่ร้ายแรง และประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน
ผู้เข้าร่วมงานรวมจำนวนทั้งสิ้น 800 คน แบ่งเป็น ณ สถานที่จัดงาน (Onsite) จำนวน 400 คน และผ่านทางระบบออนไลน์ (Online) จำนวน 400 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ ประจำประเทศไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 76 จังหวัด อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ผู้แทนองค์กรคนไร้บ้าน กลุ่มเครือข่ายบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบ บุคคลดีเด่น หน่วยงานดีเด่น ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และจังหวัดต้นแบบขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) และสื่อมวลชน