สมาชิก ตระกูลเกลเซอร์ (Glazer Family) เข้ามาครอบครอง ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ สโมสรฟุตบอล พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ชื่อดังเมื่อ 17 ปีที่แล้ว หรือย้อนไปในปี 2005 (พ.ศ.2548) ซึ่งเป็นการเข้ามาพร้อมด้วยชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีนัก จากการที่ตระกูลเกลเซอร์ซื้อกิจการครั้งนั้นด้วยเงินกู้มา ทำให้สโมสรที่ไม่เคยมีหนี้สิน ต้องแบกภาระหนี้อ่วมตั้งแต่นั้นมา ซ้ำผลการแข่งขันก็ลุ่มๆดอนๆ
ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา (2022) ตระกูลเกลเซอร์ ได้รับการโหวตจากแฟนบอลทีมตัวเองว่าเป็น “เจ้าของทีมที่แย่ที่สุด” โดยได้รับความนิยมแค่ 4% จากการทำแบบสำรวจของเดลี่ เมล สื่อท้องถิ่นของอังกฤษ ซึ่งสำรวจความเห็นจากแฟนบอลกว่า 100,000 คนจาก 20 สโมสรในศึกพรีเมียร์ลีก
คะแนนโหวตความนิยมเจ้าของทีม ที่ตระกูลเกลเซอร์ได้รับนั้น ถือเป็นอันดับบ๊วยสุด ด้วยเหตุผลที่คาดว่าจะมาจาก การบริหารทีมที่ย่ำแย่ การสรรหาผู้จัดการทีม และการร้างความสำเร็จมาแล้ว 5 ฤดูกาลติดต่อกัน
หลังจากที่มีข่าวแผนการเข้าซื้อกิจการสโมสรปีศาจแดงของนายอีลอน มัสก์ ผู้ขยันทวีตข้อความต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการขึ้นลงของหุ้นบริษัทที่เขากล่าวถึง ต่อมามัสก์เองก็ได้ออกมาทวีตปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวแล้ว (อ่านเพิ่มเติม: ปั่นมั้ย"อีลอน มัสก์" ยันทวีตซื้อ "แมนยู" แค่ล้อกันเล่น) และยังคงไม่มีการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ทั้งจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และจากผู้บริหารของตระกูลเกลเซอร์
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เรื่องการขายสโมสรนั้นมีมูลมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีรายงานออกสื่อของอังกฤษมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ว่า ตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ตั้งราคาขายทีมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าอาจมีมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1.7 แสนล้านบาท
สื่ออังกฤษรายงานว่า ณ วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีมูลค่าตลาดที่ประมาณ 2,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เมื่อตอนตระกูลเกลเซอร์ซื้อสโมสรแห่งนี้ในปี 2005 นั้น พวกเขาใช้เงินซื้อสโมสรเพียง 955.51 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ตลอดระยะเวลาที่เข้าครอบครองสโมสร (ซึ่งถึงตอนนี้ก็เป็นระยะเวลา 17 ปีแล้ว) พวกเขามีความพยายามที่จะขายสโมสรมาเป็นระยะ ๆ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว (2021) พวกเขาตั้งราคาทีมปีศาจแดงไว้ที่ราว ๆ 4,000 ล้านปอนด์ แต่ก็ยังไม่มีใครมาซื้อ เพราะมองว่าราคานี้ยังสูงเกินไป
ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่ไม่สวยหรูนัก โดยแมนฯ ยูไนเต็ด ออกสตาร์ตฤดูกาลใหม่ของการแข่งขันพรีเมียร์ลีกด้วยการแพ้ติดต่อมา 2 นัด จนครองตำแหน่งบ๊วยของตารางคะแนนพรีเมียร์ลีก ข่าวการขายสโมสรก็ลือหึ่งขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าเสียงลือจะเป็นจริงหรือไม่ และเจ้าของคนใหม่จะเป็นนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ1 ของโลกหรือเปล่า เรามาทำความรู้จัก ‘ตระกูลเกลเซอร์” เจ้าของสโมสรปีศาจแดงในปัจจุบันกันก่อน
ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม 2005 นายมัลคอล์ม เออร์วิง เกลเซอร์ (Malcolm Irving Glazer) นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เข้าซื้อหุ้น 28.7% ในสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และต่อมาก็ได้ถือครองส่วนได้เสียที่มีอำนาจควบคุมผ่านเครื่องมือในการลงทุนบริษัทเรดฟุตบอล (Red Football Ltd.) เพื่อซื้อกิจการสโมสรด้วยการกู้ยืมเงินประมาณ 800 ล้านปอนด์ (หรือ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เมื่อการซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ สโมสรปีศาจแดงจึงออกจากตลาดหลักทรัพย์ เงินส่วนใหญ่ที่เกลเซอร์นำมาซื้อกิจการ เป็นเงินที่ตระกูลเกลเซอร์ไปกู้มา หนี้สินจึงถูกโอนมาเป็นหนี้ของสโมสร จนทำให้สโมสรมีหนี้ติดตัวถึง 540 ล้านปอนด์ พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7-20%
ตระกูลเกลเซอร์นำสโมสรเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2012 หลังจากนั้นไม่นาน มัลคอล์ม เกลเซอร์ เสียชีวิตในปี 2014 (พ.ศ.2557) หุ้นของตระกูลเกลเซอร์ในกิจการสโมสรแมนฯยูไนเต็ด 90% ตกเป็นของลูกๆ 6 คนของเขาในสัดส่วนเท่า ๆกัน ได้แก่ แอฟรัม โจเอล เควิน ไบรอัน ดาร์ซี และเอ็ดเวิร์ด เกลเซอร์ โดยโจเอลและแอฟรัมเป็นผู้บริหารสโมสรในตำแหน่งประธานร่วม (co-chairman)ในปัจจุบัน ส่วนคนอื่น ๆ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ
อย่างไรก็ตาม พี่น้องตระกูลเกลเซอร์ทยอยขายหุ้นที่พวกเขาถือครองออกมาเป็นระยะ ๆ เช่นในปี 2014 หลังเกลเซอร์ผู้พ่อเสียชีวิตไปเพียง 6 เดือน เอ็ดเวิร์ด ก็เสนอขายหุ้นในส่วนของเขา 3 ล้านหุ้น และล่าสุด เดือนมี.ค. ปีที่แล้ว (2021) แอฟรัมเสนอขาย 5 ล้านหุ้นในส่วนของเขาคิดเป็นมูลค่าราว 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวระบุว่า ในปี 2019 ตระกูลเกลเซอร์ยังคงมีสิทธิ์ในการควบคุมสโมสรมากที่สุดจากการถือหุ้นราว 70 % แม้จะมีหนี้สินอยู่มาก แต่ทางสโมสรก็มีรายได้มหาศาลจากการเซ็นสัญญาในเชิงพาณิชย์ โดยนับจากที่ตระกูลเกลเซอร์เข้าซื้อกิจการในปี 2005 จนถึงกลางปี 2021 พบว่า รายได้ของสโมสรเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และ ‘ปีศาจแดง’ก็ได้ชื่อว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ3 ของโลกในปี 2020 จากการจัดอันดับของฟอร์บส์
นอกเหนือจากสมาชิกตระกูลเกลเซอร์แล้ว หุ้นของ Manchester United PLC ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ถือครองโดยผู้ลงทุนสถาบัน 10 รายใหญ่ (ดังภาพประกอบ) มีรายได้รวม (ณ 31 มี.ค.2022) 152.85 ล้านปอนด์
ข้อมูลอ้างอิง