เป้าหมาย ยกระดับเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขง ภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai 2017 Plan of Action) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มไว้เมื่อปี 2560 เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 11 (11th Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region หรือ 11th MSC Mekong)
ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบการประชุมทางไกล VDO Conference วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับเลขาธิการอาเซียน และตัวแทนจากประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
ที่ประชุมได้ยอมรับข้อเสนอของประเทศไทยในการตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai Plan of Action) ในปี 2566 2567 และ 2568 ลงร้อยละ 30 35 และ 40 ตามลำดับ โดยใช้จำนวนจุดความร้อนปี 2563 เป็นฐาน
ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง โดยใช้แผนปฏิบัติการเชียงรายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ร่วมกับให้การช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในอาเซียน
ผลสำเร็จของการดำเนินงานลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงปี 2565 ปัจจุบันสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 20% ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน ให้มีการตั้งเป้าหมายร่วมอาเซียน ในการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 16 เมื่อปี 2564
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังได้แสดงความขอบคุณที่ประเทศไทยให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และการอบรมให้ความรู้แก่ประเทศสมาชิกในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจุบันประเทศไทยพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงต่อไป นายวราวุธ กล่าว