ศกพ. สั่งเตรียมรับมือฝุ่น PM2.5 ปี 2566

02 ธ.ค. 2565 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 14:36 น.

ศกพ. สั่งเตรียมรับมือฝุ่น PM2.5 ปี 2566สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง

 

 

 

ผลกระทบฝุ่นละออง PM2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปีแต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงปลายปีและต้นปีที่มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดการสะสม ซึ่งถือว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ผ่านมา

 

 

 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ( ศกพ.) ได้บูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 มาอย่างต่อเนื่อง

 

ในปี 2566 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรฯได้จัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

ปิ่นสักก์ สุรัสวดี

 

 

 

ตรวจควันดำ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงข่าวการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5  ประจำปี 2566 โดยกล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มักเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปี ซึ่งมาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบนโยบายและเน้นย้ำการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566  หลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่  พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม”ภายใต้แผนเฉพาะกิจฯ

 

ประกอบด้วย 1) เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ 2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3) ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) 4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด

 

ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 5) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) 6)

 

ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง

อัดใบอ้อย

ในปี 2566 มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการระบายฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

 

1) พื้นที่เมือง แหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงเน้นมาตรการในการป้องกันการเกิดปัญหาและมาตรการแก้ไขปัญหา ดังนี้

 

- ด้านการจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้มีการกำหนดโครงการ อาทิ โครงการรถรัฐลดมลพิษ โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5  ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ให้บริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ฟรี และลดค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่ และค่าแรงเป็นพิเศษ

 

การน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต ฝุ่น PM2.5 รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง เช่น บริษัทรถบรรทุก  สถานีขนส่ง และอู่รถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทาง อู่รถโดยสาร ขสมก. เป็นต้น

 

ด้านโรงงานอุตสาหกรรม จะมีการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง ร้อยละ 100 ตลอดปี  โดยในช่วงวิกฤตระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 จะเร่งตรวจกำกับโรงงานเชิงรุกโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น

 

โดยโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองประกอบด้วย โรงงานที่ใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จโรงงานแอสฟัลติก รวมทั้งสิ้น 896 โรงงาน นอกจากนี้ยังมีการควบคุมสถานประกอบการ ได้แก่ กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น

 

2) พื้นที่เกษตร แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร ดังนั้นจึงเน้นการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 17,640 คน และตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%

 

3) พื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า ดังนั้นจึงเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า

 

การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มักเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปี สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันที่แหล่งกำเนิด ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่า เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีของทุกคน

 

ทั้งนี้ ติดตามข้อมูล ข่าวสาร การรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai หรือ แฟนเพจศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง