“วราวุธ”แลกเปลี่ยนHarvard Universityแก้ปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

09 ก.พ. 2566 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2566 | 05:28 น.

“วราวุธ” ต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา Harvard University แลกเปลี่ยนมุมมองการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติของเมือง

 

 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ให้การต้อนรับศาสตราจารย์ เนลล์ เคิร์กวูด (Professor Niall Kirkwood) อาจารย์กชกร วรอาคม อาจารย์พิเศษ และคณะนักศึกษาจาก Harvard University Graduate School of Design (Harvard GSD)เมื่อวันที่8กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมิติของเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานและวิเคราะห์ความเป็นเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในมิติต่าง ๆ

 

วราวุธ ศิลปอาชา

 

 

ภายใต้หลักสูตรวิชา BANGKOK REMADE : Design to Enhance Social Dignity, Climate Change, Resilience, and inspire the Nation’s Imagination in the Contemporary Thai Landscape ณ ห้องประชุม ชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยนักศึกษาให้ความสนใจกับมิติในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงความท้าทายในการดำเนินงานในอีก 20 ปีข้างหน้า และปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเมืองโดยเฉพาะในชุมชนแออัด

ต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษา

โดย นายวราวุธ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษาในเรื่องของการพัฒนาเมือง ว่า จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการวางแผนที่ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ หรือ Carrying Capacity : CC คือ จำนวนประชากรสูงสุดที่สิ่งแวดล้อมสามารถรับได้โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และการพัฒนาให้มีระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงมากขึ้น

นอกจากนั้นแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับประชากรของประเทศในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวนมากที่สุด และจากประสบการณ์การทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่า ความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนแนวความคิด หรือ Mindset ของประชาชน

โดยเฉพาะในเรื่องของ การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การทิ้งขยะลงในคลองหรือแหล่งน้ำ การใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ และยังเห็นว่า การขยายระบบขนส่งสาธารณะให้ไปถึงกลุ่มสังคมเล็ก ๆ หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้มากขึ้น จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

 

“วราวุธ”แลกเปลี่ยนHarvard Universityแก้ปัญหาเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ