นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า เบทาโกรเดินหน้าธุรกิจ ภายใต้แนวคิด ‘PROACTIVE SUSTAINABILITY’ สร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ล่าสุดลงทุนกว่า 1,400 ล้านบาท สร้างและเปิดตัวโรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร หนองบุญมาก นำร่องโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) เต็มรูปแบบแห่งแรก พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาขับเคลื่อนรากฐานการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและการจัดการทรัพยากร
‘โรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา’ บริหารกระบวนการผลิตอาหารสัตว์และทรัพยากร ด้วยการเชื่อมต่อ IoT และระบบอัตโนมัติ เพิ่มกำลังการผลิตอาหารสัตว์กว่า 600,000 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 18% มีอัตราการเดินเครื่องอยู่ที่ 48% ของการผลิตรวม และจะผลิตเต็มกำลัง 100% ภายในสิ้นปีนี้ ทำให้เบทาโกรมีกำลังการผลิตรวมแล้วกว่า 4 ล้านตันต่อปี รองรับตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและ สปป.ลาว
นายวสิษฐ กล่าวว่า โรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร หนองบุญมาก เป็นโรงงานขนาดใหญ่อันดับ 3 ของบริษัทฯ ผลิตอาหารสัตว์หลากหลายชนิด อาทิ สุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อโดยถือเป็นโรงงานนำร่องแห่งแรกที่เป็นโรงงานอัจฉริยะเต็มรูปแบบ และจะเป็นโมเดลต้นแบบการขยายไปสู่โรงงานของเบทาโกรอื่น ๆ ต่อไป
ภายในโรงงานยังได้นำระบบบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วตรงเวลา พร้อมช่วยวางแผนการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ช่วยยกระดับจัดการหลากหลายมิติ ได้แก่ ระบบการบริหารจัดการโรงงาน (Smart Dashboard) ระบบการเก็บตัวอย่างและตรวจสอบคุณภาพ (Smart Sampling) ระบบการจัดเก็บวัตถุดิบที่ควบคุมแบบอัตโนมัติ(Smart Silo) รวมถึงระบบการจัดเก็บและลำเลียงวัตถุดิบอัตโนมัติ (Smart Bulk) และการใช้หุ่นยนต์ในการบรรจุและลำเลียง (Auto packing & Robot) โดยการลงทุนโรงงานอาหารสัตว์เบทาโกร หนองบุญมาก จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนช่วยลดการสูญเสีย ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการกระบวนผลิตและระบบขนส่ง ทั้งยังสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอีกด้วย
เบทาโกร ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (Environment, Social, Governance) ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยโรงงานอัจฉริยะแห่งนี้ร่วมสร้างรากฐานสังคมเข้มแข็ง ด้วยการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรร่วมเติบโตไปด้วยกัน รวมถึงสร้างงานให้คนในชุมชน ยกระดับทักษะทางด้านเทคโนโลยีให้กับคนในพื้นที่
ทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบผลิตไอน้ำแบบประหยัดพลังงาน (Smart Boiler) จากเชื้อเพลิงชีวมวล (Bio-Mass Fuel) การใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ 20% โดยติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป(Solar Rooftop) ขณะนี้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.8 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1,900 ตันต่อปี
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ในปี 2566 มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คาดว่าจะเพิ่มเป็น 19.99 ล้านตัน หรือ 4.8% จากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 19.08 ล้านตัน เนื่องจากมีความต้องการในการผลิตสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่เพิ่มขึ้น