นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย-สวีเดน ได้ร่วมกับเอสซีจีและพันธมิตร จัดงาน “Redesign Sustainable Forestry : The Innovative Forest Management” นำองค์ความรู้จากผุ็เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการชาวสวีเดน ร่วมถ่ายทอดเพื่อจุดประกายและผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดน ประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกและยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนไทย เพื่อพัฒนาต่อยอด และร่วมผลักดันเกิดเป็นความร่วมมือสร้างเป็นไทยโมเดล ในการพลิกฟื้นพื้นที่ป่า ส่งเสริมเศราฐกิจไทย ภายใต้รูปแบบ "การตัดไม้แต่ได้ป่า"
จากการพูดคุยและการรับฟังข้อมูลจากทางสวีเดน ได้ข้อสรุปในการตัดไม้มาใช้ประโยชน์ และยังสร้างพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง จนปัจจุบันสวีเดนมีพื้นที่ป่าถึง 80% ของพื้นที่ประเทศ สำหรับในไทยทางเอสซีจี สามารถสรุปแนวทางการผลักดันให้เกิดความร่วมมือและสร้างเป็นไทยโมเดลได้ โดยต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีกฎหมายออกมาซัพพอร์ตให้ภาคเอกชนนำมาใช้ ภาคการศึกษาช่วยกันศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยต้องหาแนวทางความร่วมมือ เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังต้องนำอินโนเวชั่นมาเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผล ควบคุมต้นทุน และทำให้เกิดการใช้ไม้แบบได้ประโยชน์เต็ม 100% และต้องทำทุกอย่างทั้งอีโคซิสเต็ม มีโรงเรียนสอนดีไซน์เกี่ยวกับไม้ ก่อสร้างเกี่ยวกับไม้ SCG ทำเรื่องไม้พร้อมฟื้นฟูป่าอยู่แล้ว พร้อมๆ กับการทำให้มีน้ำในพื้นที่ชุมชนด้วยการสร้างฝากชะลอน้ำกว่า 1.2 แสนฝายทั่วประเทศ และยังเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง พร้อมการปลูกป่า และพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการจากภูผาสู่มหานที ไปสู่ทะเล ป่าชายเลน ซึ่งทุกคนต้องประสานงาน ต้องทำให้ครบวงจร และทำให้พึ่งพาอาศัยกันได้
อีกส่วนสำคัญคือ การเทคโนโลยีเข้ามาช่วยชุมชน สร้างป่า และชุมชนก็จะได้อาศัยป่านั้นในการสร้างเสริมรายได้ ซึ่งสวีเดนได้ทำมาแล้ว และประสบความสำเร็จทำให้คนในชุมชนมมีอาชีพ และเพิ่มรายได้ขึ้นถึง 5 เท่า
สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ คือ เริ่มต้นทำทันที เพราะจากที่สวีเดน เคยใช้เวลากว่า 20 ปีในการพลิกฟื้นพื้นที่ป่าจาก 25% เพิ่มเป็น 75% แต่สำหรับไทย นายอารอน คาแพลน (Aaron Kaplan) ผู้อำนวยการ Eco Innovation Foundation (EIF) ได้บอกไว้ว่า ไทยอาจจะทำได้เร็วกว่าสวีเดนมาก เพราะประเทศ เป็นพื้นที่เหมาะกับป่า และมีแสงแดด ขณะที่สวีเดน มีแสงแดดแค่เพียง 6 เดือน
สวีเดน ใช้นวัตกรรมจัดการป่าสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการอนุรักษ์ธรรมชาติและเศรษฐกิจ เช่น การพลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% เพิ่มเป็น 75% ได้สำเร็จ รวมถึงการปลูกป่าไม้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต เช่น ไม้แปรรูปสำหรับภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม้แปรรูปสำหรับเฟอร์นิเจอร์ มุ่งหวังให้ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นำโมเดลนี้ไปศึกษา เพื่อต่อยอดสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566
นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของสถานเอกอัครราชทูตฯ คือการสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่ความยั่งยืน โดยเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาแนวคิดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ประเทศไทย ซึ่งการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของสวีเดนที่นำมาเผยแพร่ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างป่าไม้ ชุมชน และเศรษฐกิจ ให้เติบโตไปพร้อมกัน เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างป่ากับคน สอดคล้องกับพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่อง “ปลูกต้นไม้ในใจคน” ที่ต้องทำให้คนเข้าใจว่าเราปลูกต้นไม้ทำไม ประโยชน์คืออะไร ถ้าเราสามารถสร้างระบบอุตสาหกรรมและธุรกิจป่าไม้ที่ทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากป่า เห็นคุณค่าจากป่า ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันบริหารจัดการป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องแนวคิดการบริหารจัดการป่าในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งความยั่งยืนของไทย สวีเดน ปี 2566
นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รัฐบาลสวีเดนหวังว่าโมเดลและประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันในวันนี้ จะเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อขยายแนวคิดแห่งความยั่งยืนนี้ต่อไป
นายนิธิ กล่าวว่า เอสซีจีเห็นประโยชน์จากโมเดลจัดการป่ายั่งยืนของสวีเดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ลองศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในการทำเหมืองปูนซีเมนต์ เพื่อให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และขยายพื้นที่ป่าบก ป่าโกงกางและหญ้าทะเล
รวมถึงการจัดการน้ำเพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ในโครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ โดยได้เพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย ซึ่งช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร ส่งต่อการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่ 150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามแนวทาง ESG 4 Plus
นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 3,800 ล้านบาทต่อปี
เอสซีจีเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมกันศึกษา ต่อยอด และออกแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของประเทศไทยในรูปแบบใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำประโยชน์จากป่าไม้ไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้ สัปดาห์แห่งความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566 จะมีตลอดทั้งสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม 2566 การผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยกับสวีเดน จะช่วยส่งเสริมให้ไทยพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านป่าไม้และเมืองยั่งยืน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ทางเพจ Facebook ของ TNIU ที่นี่