เปิด 11 กลุ่มธุรกิจยั่งยืน โอกาสสร้างรายได้สูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯต่อปี

24 เม.ย. 2566 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 13:09 น.

กสิกรไทย เผย 11 กลุ่มธุรกิจ โอกาสสร้างรายได้โตกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี แนะใครขยับก่อนได้เปรียบ ด้าน "ดร.ประสาร" ย้ำ Sustainability คือ “License to Grow” ใบอนุญาตธุรกิจให้มีสิทธิเติบโตในระยะยาว

จากเวทีงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth”  ของธนาคารกสิกรไทย นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากรายงานของ McKinsey พบว่ามีกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน จำนวน 11 กลุ่ม เช่น ธุรกิจขนส่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจเกษตร และธุรกิจน้ำมันและก๊าซ สามารถสร้างรายได้รวมกันมากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ภายในปี 2030 เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของทั้งโลกไปสู่ Net Zero

เปิด 11 กลุ่มธุรกิจยั่งยืน โอกาสสร้างรายได้สูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯต่อปี

ส่วนคนที่คิดว่ายังอีกไกลก็อาจจะเจอความเสี่ยงจากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่อการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น CBAM ของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันทางธุรกิจ

ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความยั่งยืนไม่ใช่แค่การเปลี่ยน Mindset ในการทำธุรกิจ แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคน ความยั่งยืนเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เร่งปรับตัว จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยอมจ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลก 

เปิด 11 กลุ่มธุรกิจยั่งยืน โอกาสสร้างรายได้สูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯต่อปี

การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนนั้นยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลทั้งจากนักลงทุนทั่วไป Venture Capital ธนาคารและสถาบันการเงิน ที่ในอนาคตจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้ธุรกิจสีเขียวเหล่านี้เติบโตได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้การแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน ทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้โลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปได้ การจัดงานในวันนี้จึงอยากเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง หากเราทำสำเร็จเราจะพบดินแดนใหม่ที่สดใสอย่างแน่นอน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้ Sustainability ถือเป็น “License to Grow” หรือใบอนุญาตสำคัญให้ธุรกิจมีสิทธิเติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเติบโตที่ทุกคนต้องการและมีคุณภาพมากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหลือเพียงทุกภาคส่วนหันหน้ามาผนึกกำลัง ลงมือทำเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย

เปิด 11 กลุ่มธุรกิจยั่งยืน โอกาสสร้างรายได้สูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯต่อปี

ปัจจุบันโลกมีปัญหาที่ท้าทายและอาจฉุดรั้งการพัฒนาในอนาคต แต่ก็เป็นความท้าทายที่เปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ธุรกิจที่สามารถปรับตามแนวทางแห่งความยั่งยืนได้ก็จะเพิ่มโอกาสและรายได้ ใครทำได้ก่อนก็รับโอกาสก่อน 

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียนรวมถึงสถาบันที่เป็นตัวกลางในการยกระดับความรู้และคุณภาพการดำเนินกิจการ ซึ่งรวมไปถึงคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เท่าทันการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจการลงทุน ESG ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมาก จึงได้เร่งพัฒนาESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์ข้อมูล สร้างความโปร่งใสและสร้างมาตรฐานESG ในการดำเนินกิจการ และเพิ่มโอกาสในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ดำเนินการด้าน ESG ได้อย่างดี 

เปิด 11 กลุ่มธุรกิจยั่งยืน โอกาสสร้างรายได้สูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ฯต่อปี

ในงานสัมมนายังมีปาฐกถาพิเศษโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พูดถึงปัญหาของ Climate Change เป็นภัยคุกคามสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกในระยะยาว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยมีความเสี่ยงลำดับที่ 9 ของโลกที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียและได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ยกระดับการทำงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ทบทวนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย NDC (ปี 2030) ในภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคของเสีย และภาคเกษตร พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน 

 

นอกจากนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับจาก Voluntary เป็นMandatory เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาคาร์บอน และกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ที่จะไปสู่ Net Zero GHG เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำ ทุกอย่างเป็นจริงได้