รัฐผนึกชุมชน ปกป้องผืนป่าไม้มีค่าของไทย

23 มิ.ย. 2566 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 05:34 น.

รัฐผนึกชุมชน ปกป้องผืนป่าไม้มีค่าของไทย ชูป่าชุมชนบ้านแปดอุ้ม เป็นโครงการต้นแบบความร่วมมือ ปกป้องและอนุรักษ์ไม้พะยูงให้อยู่ในป่าของประเทศอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีป่าไม้พะยูงที่สมบูรณ์ แต่จากสถิติย้อนหลัง 8 ปีระหว่างปีพ.ศ. 2553-2561 พบว่า ไม้พะยูงถูกลักลอบตัดไปถึง 6,100 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณพื้นที่สนามฟุตบอลของสนามกีฬาแห่งชาติ คิดเป็นมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า การค้าไม้ไปยังประเทศจีนมีบทบาทสำคัญต่อการลักลอบตัดไม้ในภูมิภาคนี้

รัฐผนึกชุมชน ปกป้องผืนป่าไม้มีค่าของไทย

อย่างไรก็ตาม การปราบปรามการลักลอบตัดไม้อย่างเข้มงวด โดยข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติพบว่า ปี 2552-2557 มีการดำเนินคดีกับการลักลอบตัดไม้พะยูง 4,450 จำนวนคดี คิดเป็น 51,100 ท่อน จากผู้ต้องหา 2,827 คน ประกอบกับพื้นที่ป่าที่ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่เดิม ทำให้สถิติการนำเข้าไม้จากจีนลดลง แต่ความต้องการไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 70% เป็น 90% จึงเป็นแรงกดดันต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว UN-REDD ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อต่อต้านกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการค้าไม้ที่ยั่งยืน 

รัฐผนึกชุมชน ปกป้องผืนป่าไม้มีค่าของไทย

การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ถือเป็นการช่วยปกป้องและอนุรักษ์ไม้พะยูงให้อยู่ในป่าของประเทศอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

 

ป่าชุมชนบ้านแปดอุ้ม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นป่าที่อยู่ในเขตสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างประเทศไทย กัมพูชาและลาว จึงถูกเลือกเป็นโครงการต้นแบบที่ภาครัฐและชุมชนสามารถร่วมมือกันในการปกป้องและบริหารจัดการป่า โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการค้าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะอนุรักษ์ป่าไม้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

รัฐผนึกชุมชน ปกป้องผืนป่าไม้มีค่าของไทย

“แคทรีนา บอร์โรมิโอ” เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)กล่าวว่า โมเดลบ้านแปดอุ้มจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ผู้นำชุมชน อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ลงพื้นที่ลาดตระเวนตรวจสอบการลักลอบตัดไม้พะยูง ขณะเดียวกันยังมีการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยไม่ว่าจะเป็นกล้อง NCAPS ดาวเทียม SEPAL แอปพลิเคชัน พิทักษ์ไพร และ e Tree เข้ามาช่วยตรวจสอบการลักลอบตัดไม้พะยูงอย่างผิดกฎหมายด้วย

แคทรีนา บอร์โรมิโอ เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

“บ้านแปดอุ้ม เป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงพลังและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐในการปกป้องพื้นที่ป่าจากการถูกทำลาย หากพบพฤติกรรมต้องสงสัยหรือการลักลอบตัดไม้ชาวบ้านสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันทีผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น แอปพลิเคชันพิทักษ์ไพรได้ทันที” แคทรีนากล่าว

ด้าน “อ้อมจิตร เสนา” นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้กล่าวว่า กรมป่าไม้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการตรวจจับผู้กระทำผิด เช่น แอปพลิเคชัน พิทักษ์ไพร ระบบการลงทะเบียนต้นไม้ e-Tree รวมถึงระบบกล้อง NCAPS ที่ใช้ในการตรวจจับผู้ต้องสงสัย รวมถึงใช้โดรนในการบินตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจจับและแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้อย่างทันท่วงที

รัฐผนึกชุมชน ปกป้องผืนป่าไม้มีค่าของไทย

นอกจากนี้ การนําเทคโนโลยีแผนที่มาใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลของ SEPAL ยังสามารถแสดงให้เห็นพื้นที่ที่สูญเสียต้นไม้ปกคลุมที่เกิดจากการรุกลํ้าพื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกมันสําปะหลังในบริเวณรอบป่าอนุรักษ์อีกด้วย

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,898 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566