ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development เปิดเผยว่า DAD ได้เตรียมศึกษาความเป็นไปได้พลังงานทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ จากปัจจุบันที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ โดยเบื้องต้นสนใจพลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า
ล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดเชิงลึกและวางแผนงาน โดยคิดตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบ เช่น การวางท่อ และการออกแบบห้องหรืออาคารสำหรับผลิตพลังงาน ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด และตอบโจทย์การประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ส่วนพลังงานที่ได้มาจะนำไปแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในอาคาร
เบื้องต้นจะเริ่มที่อาคารธนพิพัฒน์ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ DAD ซึ่งมีความพร้อมในหลายด้านและมีศักยภาพสูงในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาให้เป็นอาคารต้นแบบอาคารพลังงานเป็นศูนย์ Net Zero building ตามแผนยุทธศาสตร์ DAD ระยะ 5 ปี ในด้านการส่งเสริมบริหารจัดการอาคารด้วย BCG Model
จากการศึกษาเบื้องต้นทางด้านกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซไฮโดรเจน ได้เลือกเทคโนโลยีกระบวนการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยใช้พลังงานที่ผลิตมาจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากชั้นดาดฟ้าของอาคารซึ่งเหลือจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในโครงการในช่วงกลางวันมาผ่านกระบวนการผลิตและกักเก็บเป็นก๊าซไฮโดรเจน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าผ่านเซลล์เชื้อเพลิง และมีระบบกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่
เพื่อเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้ในเวลากลางคืนหรือตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินงาน จึงได้มีการออกแบบลงไปในรายละเอียดเชิงลึกอีกครั้ง หากผลการศึกษาเชื่อมั่นได้ก็จะเริ่มดำเนินการ เพื่อให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการรวมกว่า 10 ล้านบาทในระยะ 4 ปี แต่จะเกิดความคุ้มค่าในระยะยาวอย่างยั่งยืน
“DAD เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องกล้าริเริ่มลงทุนเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพัฒนาโครงการที่ช่วยอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานรัฐด้วยกัน และยังสามารถสร้างกระแสให้เกิดการลงทุนในด้านพลังงานทางเลือก ให้กับหน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย โดยมุ่งเป้าหมายไปที่การลงทุนเพื่อความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ของสหประชาชาติ”
หากการดำเนินงานปรับปรุงอาคารธนพิพัฒน์ให้เป็นอาคารที่มีการใช้พลังงานเป็นศูนย์ได้แล้ว จากนั้น จะนำไปสู่การขยายผลพัฒนาไปใช้กับอาคารอื่นๆ ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ และขยายผลไปถึงงานพัฒนาโครงการก่อสร้างอาคารอื่นในอนาคตของ DAD เพื่อสร้างทางเลือกในการออกแบบและก่อสร้างอาคาร และเพื่อตอบรับนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้กับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ต่อไป