เปิดสาเหตุ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ติดลบหนักกว่าแสนล้าน เพราะอะไร อ่านเลย

28 ก.ย. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2565 | 15:00 น.

เปิดสาเหตุ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ติดลบหนักกว่าแสนล้าน เพราะอะไร อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังเข้าช่วยพยุงราคาน้ำมันช่วงวิกฤตด้านพลังงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 โดยดูแลเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วงเกิดวิกฤตด้านพลังงานนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงฤดูหนาว 

 

จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนราคาโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ราคาอยู่ระดับเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา โดยราคาดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกปัจจุบันเดือนกันยายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 131.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนปีที่แล้วถึง 58% ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 82.92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 
 

ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันเริ่มติดลบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 โดยติดลบ 82,674 ล้านบาทจากก่อนหน้าที่เป็นบวกมาตลอด

 

ขณะที่บัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) มีฐานะติดลบมาต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมมาต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกสูงกว่ามาก 

 

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 25 กันยายน 2565 ติดลบ 124,216 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

 

  • บัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท

 

  • บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท 

 

เปิดสาเหตุกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบหนักกว่าแสนล้าน

 

โดยที่มีเงินช่วยเหลือ ด้านราคาก๊าซจากกลุ่มปตท.เข้ามาเติม 1,000 ล้านบาท 

 

จากการบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในด้านราคาพลังงานจะเห็นได้ว่า ปีนี้มีการปรับราคาน้ำมันดีเซลที่ราคาลิตรละ 30 บาท เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเริ่มทยอยปรับขึ้นครั้งแรก 1 พฤษภาคม 2565 ราคาลิตรละ 32 บาท

 

และปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 35 บาท ส่วนราคา LPG ก็เช่นกัน หลังจากที่ตรึงไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมมาต่อเนื่องยาวนาน ก็ได้ทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ปรับขึ้นครั้งแรกเป็น 333 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

นอกจากนี้ สกนช. ได้ปรับแผนวิกฤตด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน โดยปรับครั้งที่ 1 การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ (จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

 

การปรับครั้งที่ 2 กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้ติดลบหากระดับราคายังอยู่ในระดับวิกฤต จนส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ ตามมาตรา 26 วรรคสอง หรือ วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

 

โดยเฉพาะเมื่อใกล้วงเงินกู้ยืมเงินที่ได้รับตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ให้เริ่มดำเนินการพิจารณากลยุทธ์การถอนกองทุนน้ำมันฯ (Exit Strategy) โดยปรับสัดส่วนการช่วยเหลือลงครึ่งหนึ่ง และยังคงดำเนินการหารือเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิต เพื่อให้ระดับราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก และเริ่มดำเนินการกู้เงินเพื่อให้กองทุนฯ ไม่ขาดสภาพคล่อง

 

รวมทั้งยังมีการขยายกรอบวงเงินกู้จาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอขยายกรอบวงเงินกู้เป็น 150,000 ล้านบาท

 

ในส่วนของการดำเนินการในบทเฉพาะการตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 นั้น สกนช. ได้ขยายเวลาจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี ครบกำหนด 24 กันยายน 2567 เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเศรษฐกิจที่ถดถอยเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ จึงได้มีการขยายเวลาออกไป