ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. พุ่งขึ้น 1.84 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 89.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 2.12 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 94.57 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากการเปิดเผยสต็อกน้ำมันกลั่นที่ลดลงในสหรัฐฯ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ว่า สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 4.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 2 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 9.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์ปรับตัวรับปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งจากข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่สูงเกินคาด, การเตือนของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่ว่า การตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่จะลดการผลิตน้ำมันลงนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยฟื้นตัวจากการร่วงลงในช่วงเช้าซึ่งถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงเกินคาด
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (13 ต.ค.) ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 8.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 8.1% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.3%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.6% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 6.5% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. โดยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สหรัฐยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับที่อาจทำให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย