ค่าไฟปัจจัยรุมเร้าเพียบ วัดใจรัฐตรึงค่าเอฟทีงวดหน้า

03 พ.ย. 2565 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 11:56 น.

กำลังใกล้เข้าสู่การพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที ) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะต้องนำมาใช้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-เมษษยน 2566 ที่ต้องรอลุ้นกันว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วยหรือไม่

หลังจากที่ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุแล้วว่า กระทรวงพลังงานมีมาตรการพยุงอัตราค่าไฟฟ้าช่วงไตรมาสแรกปี 2566 ให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 4.72 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากตรึงค่าเอฟทีไม่ได้หรือส่งผลต่อค่าเอฟทีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 133 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบัน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นกว่า 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับค่าเอฟทีในงวดปัจจุบัน(ก.ย.-ธ.ค.65)

 

ด้วยปัจจัยของปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยผลิตได้น้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ในรูปแบบราคาตลาดจรหรือ Spot LNG ที่มีราคาแพงในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่หายไป ซึ่งปัจจุบันประเทศต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา การนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว และรูปแบบ Spot LNG สูงถึง 38% ของปริมาณการใช้ก๊าซฯทั้งหมด เมื่อเฉลี่ยราคาออกมาตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 จะอยู่ที่ราว 34.25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยปี 2564 อยู่ราว 18.46 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยปริมาณก๊าซแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาทั้งสัญญาระยะยาวและรูปแบบ Spot LNG ช่วงมกราคม-สิงหาคม 2565 รวมกันราว 7 ล้านตัน ซึ่งเป็นรูปแบบ Spot LNG เกือบครึ่งหนึ่ง

ค่าไฟปัจจัยรุมเร้าเพียบ วัดใจรัฐตรึงค่าเอฟทีงวดหน้า

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปัจจัยที่จะส่งต่อการปรับค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จะยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาก๊าซแอลเอ็นจี ที่ขยับตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่เป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปค) ประกาศลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาเรลต่อวัน ส่งผลให้ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

 

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ (ปริซึม) ของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ตลาดแอลเอ็นจีในไตรมาส 4 ของปีนี้ จะเฉลี่ยอยู่ราว 50.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู หรือเฉลี่ยทั้งปีราว 38.75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จะเฉลี่ยราว 32 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู แม้จะมีราคาถูกลงแต่ยังแพงกว่าการใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าที่ 25 บาทต่อลิตร ขณะที่มอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ก๊าซแอลเอ็นจีไตรมาสแรกปี 2566 จะอยู่ 39 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู และไตรมาส 2 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู

ที่สำคัญคือการประเมินค่าเอฟทีที่จะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วยนั้น ทาง กกพ. ได้นำปัจจจัยหรือมาตรการลดผลกระทบ ค่าเอฟทีมาพิจารณาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมมากขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชน หันไปใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซฯ และปรับรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว แล้วก็ตาม

 

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากการที่ กฟผ.ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าเอฟทีตั้งแต่ค่าไฟฟ้างวด ก.ย. - ธ.ค. 2564 จนถึงงวดเดือน พ.ค.- ส.ค.2565 มีภาระหนี้สินเกิดขึ้นแก่ กฟผ.แล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท และเมื่อรวมงวดปัจจุบัน ก.ย. - ธ.ค.2565 นั้นทำให้ กฟผ.มีภาระหนี้สินสูงขึ้นถึงประมาณ 109,672 ล้านบาท

 

แม้ว่าในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะมีการปรับค่าเอฟทีขึ้นไปอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วยแล้วก็ตาม แต่เป็นเพียงเฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเท่านั้น ยังไม่ได้บวกค่าเอฟทีที่จะต้องทยอยคืนให้กับ กฟผ.เข้าไปแต่อย่างใด จนส่งให้ กฟผ.ประสบปัญหาหนักจากการแบกรับภาระจากการบริหารค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. พบว่าจะเจอกับภาวะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 เป็นจำนวนเงินประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขอ ครม.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 8.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยค้ำประกัน จากที่ก่อนหน้านี้เดือนมีนาคม กฟผ.ขอกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565 - 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการคลี่คลายระยะสั้นเท่านั้น

 

เมื่อต้องมาเจอกับราคาก๊าซฯที่ยังคงสูงต่อเนื่อง กฟผ.ต้องแบกรับค่าเอฟทีต่อไป และจะบริหารจัดการสภาพคล่องและลงทุนต่อไปเพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศได้อย่างไร ซึ่งไม่พ้นต้องไปขอมติ ครม.ให้การกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีก

 

ทั้งนี้ การกู้เงินมาถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ หากกู้มาเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลหนี้ขยับใกล้กรอบเพดานหนี้ที่รัฐบาลกำหนดไว้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของรัฐบาลมากขึ้นตามไปด้วย

 

ดังนั้น ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด จะเป็นตัวแปรที่รุมเร้าให้รัฐบาลจะตัดสินใจตรึงค่าไฟฟ้ารอบ ม.ค.-เม.ย.2565 ไม่ให้ขยับขึ้นไปหรือไม่คงต้องรอลุ้นกัน